ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลจากสถานการณ์ไวรัส โคโรนาดังกล่าว ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารในบางพื้นที่ของประเทศจีน ซึ่งหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จะเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังจีน ดังนั้น เกษตรกรต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้า ผู้ประกอบการควรวางแผนในการบริหารจัดการเพื่อขยายการส่งออกสินค้าไปยังจีน อาทิ การแปรรูป ส่งเสริมการแช่แข็ง เพื่อรอการจำหน่าย ระบบ online marketing รวมทั้งขยายและเชื่อมโยงระบบ logistic เพื่อกระจายสินค้า โดยขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ใช้เทคโนโลยีการเกษตร ขับเคลื่อนผ่านศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมเทคโนโลยีทางการเกษตร ภูมิปัญญา และนวัตกรรมการเกษตร รวมไปถึงมีศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center : NABC) ที่ สศก. ได้ร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูล Big Data ตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อให้บริการแก่ทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ไวรัสโคโรนา ส่งผลกระทบความต้องการสินค้าเกษตรไทยภาพรวมลดลงในระยะสั้น โดยเฉพาะผักและผลไม้สด ซึ่งจากข้อมูลปี 2560 - 2562ไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไปยังประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกภาพรวม 64,535.88 ล้านบาท โดยกลุ่มที่มีการส่งออกเป็นอันดับต้น คือ กลุ่มผลไม้สด ร้อยละ 77.20 ผลไม้แห้ง ร้อยละ 9.92 ผลไม้แช่เข็ง ร้อยละ 8.06 และผลไม้อื่น ๆ ร้อยละ 4.83 ทั้งนี้ ผลไม้สดที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ทุเรียนสด คิดเป็นร้อยละ 52.88 และมังคุด คิดเป็นร้อยละ 23.59 และจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา สศก. ได้ประมาณการมูลค่าการส่งออก ผัก ผลไม้สด ในช่วง 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2563) ลดลงร้อยละ 0.33 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดไปจีนในปี 2562 หรือคิดเป็นมูลค่า 940 ล้านบาท แต่หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อไปอีก 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2563) จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ผักผลไม้ลดลง เป็นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดไปจีนในปี 2562 หรือคิดเป็นมูลค่า 5,278 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงให้ผลของทุเรียน และมังคุด ซึ่งกว่าร้อยละ 50 ผลผลิตทุเรียนส่งออกไปยังตลาดจีน โดยเฉพาะทุเรียนสด ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องร่วมมือรักษาคุณภาพผลผลิต เช่น ไม่ตัดทุเรียนอ่อน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน GAP และ GMP เพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถในการส่งออก