ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นแผนงานของกรมทางหลวงตั้งแต่ปี 2557 และวางแผนที่จะดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่น เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณจราจรช่วงทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกว่า 200,000 คันต่อวัน และในช่วงเวลาเร่งด่วนอยู่ในสภาพใกล้เต็มความจุของถนน โดยผลการสำรวจพบว่า 75% ของผู้ใช้ทางเป็นการเดินทางระยะไกลมุ่งหน้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาจราจรหนาแน่นโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ไม่ได้เกิดจากปริมาณรถเข้า-ออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งมีสัดส่วนเพียง 25% เท่านั้น
“มันไม่เป็นความจริงที่การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือของสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดปัญหารถติดบนมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ช่วงศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ จนทำให้กรมทางหลวง ต้องลงทุนสร้างโครงการทางยกระดับในแนวเส้นนั้น แต่กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดมาตั้งแต่
ปี 2551 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสุวรรณภูมิ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ต่อมาในปี 2552 ได้สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมว่าควรสร้างเป็นทางยกระดับคร่อมอยู่บนแนวมอเตอร์เวย์ในปัจจุบัน และต่อมาในปี 2557 กรมทางหลวงได้นำแนวคิดดังกล่าวมาวิเคราะห์ทบทวนและวางแผนดำเนินการ” นายสราวุธ กล่าว
การพัฒนาโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของ
กรมทางหลวง มีลักษณะเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร คร่อมอยู่บนแนวทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ เชื่อมต่อโครงข่ายกับทางพิเศษสายศรีรัช รวมทั้งมีทางเข้า-ออกเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณลาดกระบังรวมระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร
โครงการฯ ดังกล่าว จะเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไปยังเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยปัจจุบันมีอัตราการเติบโตของปริมาณจราจร 4.2% ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเปิดพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งรองรับปริมาณการเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถคาดการณ์ระยะเวลาการเดินทางได้แน่นอน รองรับการขยายตัวของปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิคาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านคนในปี 2575
นายสราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันมีปริมาณการเดินทางโดยรถยนต์เข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประมาณ 112,000 คันต่อวัน โดยเป็นการเดินจากทางทิศเหนือหรือทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สัดส่วน 75% และจากทางทิศใต้ 25% ดังนั้น แม้ในอนาคตท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมบริเวณตำแหน่งใดก็ตาม ก็จะไม่ทำให้แนวโน้มรูปแบบการเดินทางเข้าท่าอากาศยานดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปมากนัก
นอกจากนั้นการสำรวจจุดต้นทาง-ปลายทางของการเดินทาง (Origin - Destination Survey) พบว่า แนวโน้มการเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนใหญ่ยังคงใช้เส้นทางคมนาคมด้านทิศเหนือ เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ สัดส่วนสูงถึง 55% โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ขณะที่การเดินทางผ่านทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เป็นแนวเส้นการเดินทางตรงและมีความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมากที่สุด