วันนี้ ( 27 ก.พ. 2563 ) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง กทม. นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเภสัชกรจำนวน 66 คน จากโรงพยาบาล(รพ.) ศูนย์รพ.ทั่วไปในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขครอบคลุมเขตสุขภาพ 13 เขตทั่วประเทศ และรพ.ราชวิถี สังกัดกรมการแพทย์รวม 24 แห่ง และรพ.ในสังกัดกรมสุขภาพจิต จัดโดยรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีพัฒนาศักยภาพให้เป็นรพ.แม่ข่าย ให้สามารถดำเนินการจัดบริการกระจายผู้ป่วยจิตเวชไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในปีงบประมาณ 2563 เพื่อลดความแออัดและลดระยะเวลารอคอยของผู้ป่วยที่ใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอก
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า โครงการกระจายผู้ป่วยจิตเวชไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ในส่วนของรพ.จิตเวชและสถาบันที่อยู่ในสังกัดกรมสุขภาพจิต ขณะนี้เปิดให้บริการ 15 แห่งครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ มีร้านยาเข้าร่วมโครงการ 164 ร้าน ล่าสุดนี้มีผู้ป่วยจิตเวช 4 โรค ได้แก่โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลและโรคนอนไม่หลับ สมัครใจร่วมโครงการ 150 คน แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ในการเร่งดำเนินการเพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชสามารถไปรับยาที่ร้านขายยามากขึ้น กรมสุขภาพจิตได้จัดทำองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการกระจายผู้ป่วยจิตเวชไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน ซึ่งได้ทดลองใช้ในรพ.ในสังกัด 15 แห่งตั้งแต่ 1พ.ย.2562 เป็นต้นมา พบว่าได้ผลดี ได้มอบหมายให้รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญการจัดบริการจิตเวชในชุมชน ดำเนินการจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องนี้ให้แก่กลุ่มเภสัชกรจากรพ.ศูนย์และรพ.ทั่วไปที่มีจิตแพทย์ประจำการเพื่อขยายผลไปยังร้านขายยาในพื้นที่ร่วมเป็นเครือข่ายจ่ายยาจิตเวชให้แก่ผู้ป่วยจิตเวชรายเก่ารับยาเดิม อาการคงที่เป็นระบบเดียวกัน คาดว่าจะสามารถจัดบริการได้ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า การอบรมเภสัชกรครั้งนี้ จัดเป็นเวลา 2 วันคือวันที่ 27-28 ก.พ. 2563
การอบรมจะเน้น 3 เรื่องหลัก คือ 1.การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชที่พบบ่อย เช่นโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล การใช้ยารักษารวมทั้งผลข้างเคียงของยาเพื่อให้เภสัชกรที่ผ่านการอบรมแล้ว ไปขยายผลในพื้นที่ต่อไป
ทั้งนี้รพ.ศูนย์ และรพ.ทั่วไปที่เข้ารับการอบรมครั้งนี้ได้แก่ รพ.ลำพูน ,รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก ,รพ.เพชรบูรณ์ ,รพ.แม่สอด ,รพ.อุทัยธานี ,รพ.พระจอมเกล้าเพชรบุรี ,รพ.สมุทรสาคร ,รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ,รพ.พระพุทธโสธร ,รพ.ตราด ,รพ.พระปกเกล้าจันทบุรี ,รพ.ระยอง ,รพ.มหาสารคาม ,รพ.ร้อยเอ็ด ,รพ.อุดรธานี ,รพ.ปากช่องนานา ,รพ.ชัยภูมิ ,รพ.สุรินทร์, รพ.บุรีรัมย์ ,รพ.สรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี , รพ.ศรีสะเกษ, รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ,รพ.พังงา และรพ.ระนอง