ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า
“จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านการเงิน โครงสร้างทางสังคม และอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศไทยและโลกต้องเผชิญกับประเด็นความท้าทายที่ยากต่อการคาดการณ์ได้ในอนาคต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท ฮิตาชิ จำกัด บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย จำกัด และ บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทางด้านดิจิทัล การออกแบบ และการสำรวจโครงสร้างทางสังคมของประเทศไทย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ยากต่อการคาดการณ์ เพื่อหาทางออกและรับมือกับสถานการณ์ความท้าทายที่จะเกิดขึ้น”
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท ฮิตาชิ (เอเชีย) ประเทศไทย จำกัด ได้คาดการณ์ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตผ่านวิธีการ Kizashi (สัญลักษณ์แห่งอนาคต)
โดยทำการศึกษาบรรทัดฐาน ค่านิยมของประชากรในสังคมที่อาจแปรเปลี่ยน เพื่อหาหนทางในการสร้างคุณค่าที่ตอบสนองกับความต้องการของสังคมไทยในอนาคตผ่าน Kizashi ซึ่งเป็นวิธีการออกแบบทางความคิดแบบองค์รวมที่ทางฮิตาชิใช้เป็นรูปแบบดำเนินการการออกแบบผลิตภัณฑ์ ข้อมูล และการบริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนในสังคม” ดร.ศุภิชัย กล่าว
มร.โยชิโตะ โคดามะ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ฮิตาชิ (เอเชีย) ประเทศไทย จำกัด ได้ร่วมกันดำเนินการศึกษาค้นคว้า พร้อมเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านกระบวนการดำเนินงาน โดยวิเคราะห์ภาพความนิยมในอนาคตของประเทศไทย ผ่านการวิเคราะห์ผ่านรูปแบบสภาพแวดล้อม (PESTEL) และนำมาประยุกต์พร้อมคาดการณ์ความเป็นไปได้ของทิศทาง และความนิยมให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลาในอนาคต” \
“ผลการวิเคราะห์และเก็บข้อมูลจะถูกประเมินร่วมกับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากหลากหลายคณะ โดยปัจจัยที่ถูกนำมาวิเคราะห์มากที่สุดในประเด็นต่าง ๆ จะถูกนำมาขยายความเพื่อหาข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม ซึ่งการดำเนินการวิเคราะห์ร่วมกับนิสิตปัจจุบันนั้นเป็นการแสดงถึงวิสัยทัศน์ว่าในฐานะที่นิสิตในปัจจุบันจะก้าวเข้าสู่การเป็นกำลังสำคัญ
ของสังคมในอนาคต การเรียนรู้และเข้าใจวิธีการหาคำตอบแบบ Kizashi จะเป็นการช่วยสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างเสริมอนาคตที่ดีกว่าให้กับประเทศไทย” มร.โคดามะ กล่าวและเสริมว่า “นอกจากนี้ ความเที่ยงตรงของการวิเคราะห์ข้อมูล
จะถูกประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ ผ่านการสัมภาษณ์เพื่อขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยความเที่ยงตรงนี้เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะถูกนำมาปรับใช้กับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคตในทุกมิติของสังคม รวมถึงภาคธุรกิจ ทั้งนี้ ฮิตาชิ ได้วางแผนดำเนินการเพื่อวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลแห่งอนาคตร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบเพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์ให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสร้างความร่วมมือและต่อยอด เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจให้แก่ประเทศไทยต่อไป”