พันตำรวจโท สมเกียรติ นนทแก้ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่าในส่วนของ สปภ. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนและขอความร่วมมือประชาชนให้งดการเผาซังข้าว วัชพืช หรือกองขยะ เพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงกำชับให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุกแห่ง ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่เทศกิจ มูลนิธิอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และประชาชนจิตอาสาในการดับไฟไหม้หญ้าหรือกองขยะที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อได้รับแจ้งเหตุ สำหรับผู้ที่เผาหญ้าหรือขยะ แม้จะเผาในที่ของตนเอง แต่ทำให้เกิดกลิ่น ควัน เขม่า สร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อผู้อื่น เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งห้ามให้หยุดเผาและห้ามมิให้มีการเผาอีกต่อไป หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากการเผาทำให้เกิดอันตรายหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หากการเผาลุกลามรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุก 5 ปี ถึง 20 ปี และหากรู้อยู่แล้วว่าการเผาดังกล่าว อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้อันตรายต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้อย่างแน่นอน ถือว่ามีความผิดฐานวางเพลิงโดยเจตนา มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ทั้งนี้หากพบเหตุไฟไหม้หญ้า กองขยะ หรือเหตุสาธารณภัย ให้แจ้ง สปภ. ที่สายด่วน
199 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่พร้อมรถดับเพลิงเข้าระงับเหตุที่เกิดขึ้นโดยเร็ว
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า สนย. ได้ประสานขอความร่วมมือผู้ประกอบการและผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้หยุดการก่อสร้างในพื้นที่กลางแจ้งหรือหยุดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นและควัน ระหว่างวันที่ 26 - 28 ก.พ. 63 รวมทั้งกำชับฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่ก่อสร้าง อีกทั้งได้ประสานขอความร่วมมือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้งดกิจกรรมก่อสร้างที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองหรือส่งให้เกิดผลกระทบต่อสภาพ
อากาศ และติดตั้งอุปกรณ์พ่นละอองน้ำตลอดแนวก่อสร้าง เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองนอกจากนี้ยังจัดให้มีการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้าง
ตลอดจนประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามแก้ไขปัญหาผลกระทบดังกล่าวเป็นประจำทุกเดือน
ด้าน นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวว่า สสล. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดมลพิษจากเครื่องยนต์ดีเซล ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้พร้อมใช้งาน เข้ารับการตรวจวัดมลพิษทุก 6 เดือน หากพบมลพิษเกินมาตรฐานให้แก้ไขทันทีเพื่อไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลกองบังคับการตำรวจจราจร และกรมการขนส่งทางบก ตั้งจุดตรวจวัดรถยนต์ควันดำ 50 เขต และตรวจจับรถทุกประเภทที่ปล่อยควันดำอีกทั้งขอความร่วมมือกองบัญชาการตำรวจนครบาล ออกคำสั่งเจ้าพนักงานจราจรห้ามรถบรรทุก ตั้งแต่ 6 ล้อ ขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนชั้นใน ในวันที่ 27 ก.พ. 63 ระหว่างเวลา 00.01 - 24.00 น. ยกเว้นรถราชการของหน่วยงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจ
นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มความถี่การล้างทำความสะอาดถนน และฉีดล้างต้นไม้ใบไม้ทั้งบริเวณริมถนนและสวนสาธารณะ เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวในการดักจับฝุ่นละออง ขอความร่วมมือเจ้าของอาคารผู้ประกอบการ หรือผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าและอาคารขนาดใหญ่ งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองและควันรวมถึงประสานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ตรวจค่าควันดำจากรถโดยสารสาธารณะทุกคันที่ท่าปล่อยรถเพื่อบรรเทาปัญหาในช่วงวิกฤต