- พ.ย. ๒๖๕๗ หัวเว่ยเปิดตัวโครงการประกาศนียบัตรด้านไอซีที ระดับเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2020 เร่งพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรไอซีที
- พ.ย. ๒๕๖๗ หัวเว่ยยื่นจดสิทธิบัตรมากที่สุดในยุโรป
- พ.ย. ๒๕๖๗ หัวเว่ยมีแผนสร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ 5G ในยุโรป
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ส์ จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลก ครองอันดับ 5 ของบริษัทที่ทุ่มงบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนามากที่สุดของโลก ตามข้อมูลของ 2019 EU Industrial R&D Investment Scoreboard ต่อเนื่องกันเป็นปีที่สอง ซึ่งการศึกษานี้จัดทำโดยคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เพื่อจัดลำดับ 2,500 บริษัทที่มีการลงทุนในด้าน R&D มากที่สุดในโลก โดยหัวเว่ยและอาลีบาบา กรุ๊ป (ติดลำดับที่ 28) เป็นบริษัทสัญชาติจีนเพียง 2 รายที่มีชื่อติดอยู่ใน 50 อันดับแรก หัวเว่ยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทที่ทุ่มเทเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีบริษัทจะทุ่มรายได้จากยอดขายราวร้อยละ 10 – 15 ไปกับงานด้าน R&D โดยเฉพาะ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทได้ใช้งบราว 70,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 2.2 ล้านล้านบาท) ไปในด้านวิจัยและพัฒนา และได้เริ่มดำเนินการวิจัยเทคโนโลยี 5G ตั้งแต่ปี 2552 ด้วยการลงทุนงบกว่า 4,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ราว 12.7 หมื่นล้านบาท) ไปกับการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 5G ทำให้ปัจจุบันหัวเว่ยได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตร 5G มากที่สุดในโลกถึง 3,325 ฉบับ นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หัวเว่ยยังเป็นบริษัทที่เข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุดในการกำหนดมาตรฐานสากลของการใช้งาน 5G ทั่วโลกอีกด้วย ตามข้อมูลจากบริษัท Iplytics ผู้วิจัยข้อมูลทางการตลาด ในขณะที่ทั่วโลกเริ่มเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ มร. เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ย ได้เปิดเผยเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า บริษัทได้เริ่มศึกษาพัฒนาเทคโนโลยี 6G แล้ว ซึ่งจะมอบความเร็วที่สูงกว่า 5G ถึง 100 เท่า “ความจริงแล้วเราพัฒนา 5G และ 6G ไปพร้อม ๆ กัน โดยเราเริ่มงานวิจัย ด้าน 6G มานานแล้ว” มร. เหริน กล่าว “แต่ตอนนี้ยังเป็นแค่เฟสแรก ๆ และเราก็คิดว่าการใช้งาน 6G เชิงพาณิชย์ยังต้องรอไปอีกประมาณ 10 ปี” เขาอธิบาย ปัจจุบันหัวเว่ยเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี 5G ร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายทั่วโลกเพื่อมอบบริการที่ครอบคลุมและครบวงจรมากขึ้น บริษัทเปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าได้ลงนามในสัญญา 5G เชิงพาณิชย์ไปแล้วกว่า 90 ฉบับทั่วโลก