ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการศึกษาไทยมีปัญหาเชิงคุณภาพเน้นแต่ปริมาณ ทั้งฝ่ายการเมืองยังเรียกร้องให้เปิดมหาวิทยาลัยเพิ่ม รวมถึงมหาวิทยาลัยไม่มีการปรับตัว รองรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คอร์รัปชั่นเป็นอีกปัญหาที่ทำให้งบประมาณถูกใช้ไม่เต็มที่ มหาวิทยาลัยเหมือนรัฐอิสระแต่ต้องรับผิดชอบสังคมด้วย ถึงเวลาต้องยกเครื่องสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั้งหมด พร้อมนำธรรมาภิบาลเข้ามากำกับดูแล
โดยปรับบทบาทแต่ละมหาวิทยาลัยคือ 1.มหาวิทยาลัยที่ออกไปสู้กับโลก ต้องพัฒนาสู่ระดับเวิลด์คลาส เช่น จุฬาลงกรณ์, มหิดล, ธรรมศาสตร์, เชียงใหม่, เกษตรศาสตร์ และขอนแก่น 2.มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นนวัตกรรม อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีราชมงคล, อาชีวะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และ 3.มหาวิทยาลัยพัฒนาเชิงพื้นที่ ต้องตอบโจทย์ชุมชน เช่น ราชภัฏ ฯลฯ พร้อมต้องจัดตั้งหน่วยงานรองรับช่วงเปลี่ยนผ่าน และมุ่งเน้นการปรับตัว พร้อมเตรีนมเสนอของบฯสำหรับการวิจัย (งบประมาณปี'64) 46,000 ล้านบาท โดยตั้งเงื่อนไขว่า ต้องพัฒนาประเทศสู่ความล้ำสมัย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับประเทศ แก้ปัญหาความยากจน และงานวิจัยและนวัตกรรมที่ท้าทายปัญหาโลก อาทิ ฝุ่น PM 2.5 การจราจร และโรคระบาด ลดการวิจัยแบบเบี้ยหัวแตก
รวมถึงเงื่อนไขใหม่ทุกมหาวิทยาลัยต้องสร้างธรรมาภิบาลให้เห็นชัดเจนคือต้องส่งรายงานทางการเงิน (financial report) ทุกปี เร็ว ๆ นี้ อว.จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อเรียกตรวจบัญชี ซึ่งทางกฎหมายก็มีสิทธิ์อยู่แล้ว และการวิจัยต้องมีหน่วยงานภาคเอกชน องค์กรทั้งในและต่างประเทศดำเนินการต่อเนื่อง พร้อมจะแก้ปัญหาและพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาผมได้ให้โจทย์ไป 3 เรื่องเพื่อพลิกวิกฤตนักศึกษาที่ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ นั่นคือภารกิจสร้างคน เดิมโฟกัสแค่นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีในระบบเพียง 3-4 ล้านคนเท่านั้น แต่ต่อไปนี้จะโฟกัสวัยทำงานและพัฒนาทักษะ (reskill-upskill) เนื่องจากเทคโนโลยี disruption ที่ประเมินไว้มีไม่ต่ำกว่า 38 ล้านคน หรือสร้างทักษะใหม่ ๆ ที่ตลาดต้องการได้ เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงวัย สร้างพลังให้สังคมโดยนำผู้สูงวัยมาเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อพัฒนาชุมชนตัวเอง เพราะผู้สูงวัยมีมากถึง 11 ล้านคน ขณะที่กลุ่มเตรียมเป็นผู้สูงวัย (pre-aging) อายุ 40-50 ปี ต้องเตรียม ตัวเป็นผู้สูงวัยคุณภาพ จึงถือโอกาสนี้ ให้มหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตรตรงตามที่ตลาดต้องการในอนาคต
ส่วนการเปลี่ยนวุฒิบัตรจากใบปริญญา (degree) สู่การเรียนสร้างอาชีพด้วยคอร์สสั้น ๆ ตั้งแต่ 3-6 เดือน หรือ 1 ปี หลังเรียนจบแล้วจะได้ประกาศนียบัตร (non degree) และเรียนสะสมจากคอร์สระยะสั้นเพื่อเปลี่ยนเป็นใบปริญญาได้ในอนาคต เนื่องจากสิ่งที่เรียนมาในอดีตเริ่มไม่เพียงพอกับโลกปัจจุบันแล้ว เพราะถูกดิสรัปต์ โดยเฉพาะกลุ่ม blue ocean กว่า 38 ล้านคน โลกปัจจุบันไม่ได้บ้าดีกรีกันแล้ว เขาต้องการเรียนรู้เพื่อไปทำงานจริง ๆ ยกตัวอย่างรัฐบาลกล่าวถึง smart farmer ผู้เรียนจะถามเลยว่า มีโปรแกรมให้ผมเรียนหรือไม่ จะให้ไปเรียนด้านเกษตรอย่างเดียว 4 ปี คงไม่มีใครสนใจ
นอกจากนี้ยังจับมือกับภาคเอกชนรายใหญ่ให้สานต่อโครงการ Coperate University ซึ่งก่อนหน้านี้มี 10 รายเข้าร่วม เช่น SCG, โตโยต้า และกลุ่มสถาบันการเงินต่าง ๆ ล่าสุดจะขยายไปถึง supply chain และ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) เพื่อพัฒนาหลักสูตร 3 รูปแบบ คือ 1.อว.ส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ทำหลักสูตร non degree 2.ให้ภาคเอกชนร่วมกับมหาวิทยาลัยทำ non degree และ 3.ให้ แต่ละมหาวิทยาลัยเสนอหลักสูตรใหม่ หากเป็นไปได้กรณีที่คนทำงานได้เพิ่มทักษะ ของตัวเองแล้วจะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่ม