นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ความผันผวนทางเศรษฐกิจภายในประเทศไทย เกิดจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ การลดลงของปริมาณกำลังแรงงานไทย การปรับเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่รวดเร็ว ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อนบ้าน การลงทุนของนักธุรกิจจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น รวมถึงนักลงทุนจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีศักยภาพ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย หันมาลงทุนในประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความต้องการแรงงานที่มีความรู้และทักษะฝีมือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและองค์กรภาคเอกชน จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคม การให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการและทางด้านเทคนิค ในการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อเพิ่มศักยภาพประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียให้สูงขึ้น
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า กพร. ได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาฝีมือและศักยภาพแรงงานในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รับผิดชอบในการพัฒนาฝีมือแรงงานในพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Economic Corridor) ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เสริมสร้างให้ประชาชนของประเทศสมาชิก GMS มีสัมพันธไมตรีและทัศคติที่ดีต่อประชาชนไทยและประเทศไทย รวมถึงกำลังแรงงานมีขีดความสามารถและศักยภาพเพิ่มขึ้น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติจึงจัดฝึกอบรมให้ความรู้และพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่บุคลากร ครูฝึกของกลุ่มประเทศ GMS และ IMT-GT ในเดือนมีนาคม 2563 จำนวน 13 หลักสูตร อาทิ การออกแบบว็บไซต์ด้านโปรแกรม WordPress การโฆษณาและการตลาดด้านการท่องเที่ยว การประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร เทคนิคการขับรถยกสินค้าอย่างปลอดภัย และเทคนิคการซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร เป็นต้น โดยปี 2563 กพร.มีเป้าหมายดำเนินการตามโครงการพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ เพื่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จำนวน 2,000 คน ดำเนินการแล้ว 679 คน โดยผู้ที่ผ่านการอบรม จะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่แรงงานในประเทศของตนเองต่อไป
“ความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีความสำคัญที่ช่วยให้แรงงานเพื่อนบ้านมีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น ช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนตามแนวชายแดน ทั้งนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV และรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งช่วยเพิ่มความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับแรงงานในภูมิภาคอาเซียนด้วย สำหรับแรงงานไทยที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติมีหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับแรงงานไทยเช่นกัน อาทิ เทคนิคการขับรถลากจูง การประกอบอาหารไทย
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 5377 7471 – 4 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย