มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1

พฤหัส ๑๒ มีนาคม ๒๐๒๐ ๐๘:๒๘
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ขยายวงกว้างขึ้นทั่วโลกและมีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เริ่มต้นจากภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 12 ของ GDP นักท่องเที่ยวหดหาย โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นักท่องเที่ยวจีนหดตัวกว่าร้อยละ 85 และนักท่องเที่ยวโดยรวมหดตัวร้อยละ 44 ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวซบเซากะทันหัน ต่อมาผลกระทบขยายวงไปยังภาคการอุตสาหกรรม ทำให้ห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศขาดตอน การค้าระหว่างประเทศหยุดชะงัก ท้ายที่สุดผู้ประกอบการขาดรายได้ สภาพคล่องไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงถึงขั้นปิดกิจการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ขาดรายได้ เผชิญความเสี่ยงอาจถูกเลิกจ้างงานจำนวนหลายแสนคน

กระทรวงการคลังรับผิดชอบการดูแลเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เล็งเห็นถึงความเสี่ยง ต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งก่อนเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ก็อยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญ ความท้าทายรอบด้าน เช่น ทั้งการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ จึงจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเพื่อพยุงและลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที กระทรวงการคลังจึงเสนอมาตรการเพื่อดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและประชาชน โดยยึดหลัก “ทันการณ์ ตรงเป้าหมาย และชั่วคราวตามจำเป็น” เพื่อบรรเทาผลกระทบและเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ รวมถึง แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.มาตรการด้านการเงิน ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้

1.1 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและ ทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 150,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงิน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงิน ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 20 ล้านบาท

1.2 มาตรการพักต้นเงินลดดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) มีมาตรการ ด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้และเงื่อนไขการรับประกันในด้านต่าง ๆ เช่น การพักชำระหนี้เงินต้น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และการผ่อนคลายเงื่อนไขการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เป็นต้น นอกจากนี้ SFIs บางแห่งยังมีมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงมีโครงการ Refinance หนี้บัตรเครดิตในอัตราดอกเบี้ยต่ำลง

1.3 มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อให้สถาบันการเงินและบริษัทลูกในกลุ่ม สถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่ให้สินเชื่อที่มิใช่สถาบันการเงิน เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในเชิงรุกอย่างทันเหตุการณ์ เช่น ผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อปกติ เพิ่มความยืดหยุ่นในการอนุมัติเงินกู้ เพื่อให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจหรือดำเนินชีวิตประจำวันต่อไปได้

1.4 มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมจะร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้แก่สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ยังคงสามารถจ้างลูกจ้างต่อไปได้ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

2.มาตรการภาษี ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้

2.1 มาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ โดยลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากอัตราร้อยละ 3 เหลืออัตราร้อยละ 1.5 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 และลดเหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามข้อกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ที่จ่ายผ่านระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax)

2.2 มาตรการภาษีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่เข้าร่วมมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และมีการจัดทำบัญชีเดียว สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับรายจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

2.3 มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างของเดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ให้แก่ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและได้รับค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยต้องคงการจ้างงานในช่วงดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่าจำนวนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน ณ วันสุดท้ายของเดือนธันวาคม 2562

2.4 มาตรการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกที่ดี กรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ทางอินเทอร์เน็ตจะได้รับคืนภายใน 15 วัน และกรณียื่นแบบ ภ.พ.30 ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาจะได้รับคืนภายใน 45 วัน

3.มาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้

3.1 มาตรการบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ รัฐวิสาหกิจ กระทรวงเจ้าสังกัดที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานกำกับ (Regulator) บรรเทาภาระโดยพิจารณาถึงแนวทางการลดและเลื่อนการชำระค่าน้ำและค่าไฟ หรือแนวทางที่เหมาะสม เช่น คืนค่าประกันการใช้ไฟบางส่วน เป็นต้น ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19

3.2 มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2533 จากอัตราร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 0.1 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเงินสมทบของรัฐบาลให้คงอัตราเดิมที่ร้อยละ 2.75 ของค่าจ้าง พร้อมทั้งปรับลดจำนวนเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และรัฐจ่ายเงินสมทบในจำนวนเท่าเดิม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างและผู้ประกันตนในการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในช่วงที่ภาคส่วนต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

3.3 มาตรการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจลดหรือชะลอหรือเลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่าราชพัสดุ ค่าตอบแทนในการให้บริการ หรือค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19

3.4 มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยลดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นร่างขอบเขตงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ และระยะเวลาการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้าง สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปรับเพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงให้หน่วยงานเร่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนปีเดียวที่เป็นการจัดหาพัสดุที่มีวงเงินต่อรายการไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2563

3.5 มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน โดยให้ประชาชนทั่วไปหักลดหย่อน ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปกติ และไม่อยู่ภายใต้เพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมในกองทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมด โดยต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ทั้งนี้ เงื่อนไขอื่นๆ ให้เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

3.6 มาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 โดยกำหนดให้มีแนวทางให้ส่วนราชการสามารถจ่ายเงินเพื่อป้องกัน เยียวยา สร้างแรงจูงใจในการคงการจ้างงาน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการเฉพาะและเร่งด่วน โดยได้เตรียมวงเงิน 20,000 ล้านบาท จากงบกลาง เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเฉพาะ

กระทรวงการคลังมั่นใจ มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 จะช่วยบรรเทาและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เศรษฐกิจยังขับเคลื่อนต่อไปได้ กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

มาตรการด้านการเงิน โทร 0 2273 9020 ต่อ 3235มาตรการด้านภาษี โทร 0 2273 9020 ต่อ 3509 3529 3512มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง / มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน โทร 0 2273 9020 ต่อ 3643มาตรการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ / มาตรการบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ / มาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 โทร 0 2273 9020 ต่อ 3558มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โทร 0 2127 7000 ต่อ 4588

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ