ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ครั้งที่ 1/2563

พฤหัส ๑๒ มีนาคม ๒๐๒๐ ๑๖:๔๓
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันพุธที่ 11 มีนาคม 2563 ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ได้หารือถึงผลกระทบต่อตลาดทุนที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ขยายวงกว้างขึ้นทั่วโลก และความผันผวนจากราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมในภาคบริการ ภาคการอุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการและประชาชน รวมถึงความผันผวนของตลาดทุน โดยได้มีแนวทางทั้งระยะสั้นและระยะยาวร่วมกัน เพื่อมุ่งสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน และปฏิรูปเศรษฐกิจไทยผ่านกลไกตลาดทุน โดยมีมาตรการหลักๆ ดังนี้

1.มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนและลดผลกระทบจากไวรัสโคโรนา

1.1 มาตรการสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มอุปสงค์ในตลาดทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนและเพิ่มอุปสงค์ โดยให้ประชาชนทั่วไปหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนใน ตลท. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปกติ และไม่อยู่ภายใต้เพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมในกองทุนเพื่อการเกษียณทั้งหมด โดยต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและภาษีต่าง ๆ เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ การพักต้นเงินลดดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ แนวทางการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย การเพิ่มสภาพคล่องและลดภาระดอกเบี้ยจ่าย รวมถึงการส่งเสริมเสถียรภาพการจ้างงานผ่านมาตรการทางภาษี และการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง เป็นต้น

1.2 มาตรการบรรเทาภาระและต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ มีมาตรการสำคัญ ๆ ที่ สำนักงาน ก.ล.ต.และ ตลท. ดำเนินการโดยสรุป คือ (1) ด้านบริษัทจดทะเบียน แก้ปัญหาเกี่ยวกับการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของหลักทรัพย์จดทะเบียน การจัดประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) ให้มีความยืดหยุ่นทั้งในด้านระยะเวลาและรูปแบบการจัดประชุม รวมถึงมีการพิจารณาลดค่าธรรมเนียม/ค่าใช้จ่ายเพื่อลดต้นทุนให้กับบริษัทจดทะเบียน และอำนวยความสะดวกด้านการดำเนินธุรกิจให้กับบริษัทจดทะเบียนผ่านช่องทาง Digital และ Relationship Manager (2) ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เปิดโอกาสให้บริษัทหลักทรัพย์ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาอนุญาตพนักงานทำงานจากที่บ้าน (work from home) การมีมาตรการรองรับการขยายประเภทหลักทรัพย์ในการทำธุรกรรมการซื้อคืน (repo) และซื้อหลักทรัพย์โดยมีสัญญาจะขายคืน (reverse repo) เพื่อเพิ่มความสามารถในการบริหารสภาพคล่องของบริษัทหลักทรัพย์ การปรับปรุงเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนในการรับจัดจำหน่ายหุ้นใหม่ที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และหน่วยลงทุน และลดค่าธรรมเนียม/ค่าใช้จ่ายสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT system) เพื่อยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจ (3) ด้านบุคลากรในตลาดทุน มีความยืดหยุ่นโดยขยายเวลาในการอบรมให้กับบุคลากรที่จะต่ออายุในปี 2563 รวมถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการยกระดับทักษะ (upskill) และเพิ่มทักษะใหม่ (reskill) บุคลากรในตลาดทุน (4) ด้านกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงาน ก.ล.ต. จะออกหลักเกณฑ์รองรับการจัดตั้ง SSF ที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายใน 16 มีนาคม 2563 ยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดตั้งและจดทะเบียนกองทุนรวมดังกล่าว และใช้หลักการอนุมัติแบบอัตโนมัติ และจะนำเสนอมาตรการให้นายจ้างหรือลูกจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสมทบหรือเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี นอกจากนี้ ตลท. จะจัดให้มีช่องทางให้บริษัทจดทะเบียนสื่อสารข้อมูลและมุมมองเชิงธุรกิจให้นักลงทุนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อให้นักลงทุนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและทันกาล และจะผ่อนผันการจัดประชุมสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อรับรองงบการเงิน

2.มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยที่จะดำเนินการผ่านกลไกตลาดทุน เพื่อให้ตลาดทุนมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กและเศรษฐกิจฐานราก ให้ตอบสนองยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ และตอบสนอง ต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านการใช้กลไกของตลาดทุนเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยในปี 2563-2564 จะเน้นมาตรการ ใน 3 ด้าน ดังนี้

2.1 ด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถและการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ประกอบการ ประกอบด้วย การพัฒนาผู้ประกอบการรายเล็ก (SMEs/Startup) ให้เป็นมืออาชีพ พร้อมจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีช่องทางการระดมทุนที่มากขึ้น เริ่มจากการพัฒนาความรู้และหลักสูตรผู้ประกอบการ สำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ในรูปแบบ e- learning และเมื่อผู้ประกอบการกลุ่มนี้แข็งแกร่งขึ้นในระดับหนึ่งแล้วก็จะเข้าสู่ช่วงการเติบโตธุรกิจ (Scaling Up) ซึ่งจะผ่านกระบวนการแนะแนวและบ่มเพาะ การช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการธุรกิจ และการจับคู่ธุรกิจ เพื่อมุ่งสร้างความแข็งแกร่งสำหรับกลุ่มที่มีศักยภาพ รวมทั้งบ่มเพาะและเตรียมความพร้อมในการระดมทุนในตลาดทุนต่อไป โดยจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ นอกจากนั้นจะเพิ่มทางเลือกการระดมทุนในตลาดทุนทั้งตลาดแรกและตลาดรอง สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการระดมทุนหรือซื้อขายเปลี่ยนมือในรูปแบบของแพลตฟอร์มสำหรับการระดมทุนและ ซื้อขายในตลาดรอง (Fund Raising and Trading Platform) โดยจะเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ในต้นปี 2564 รวมทั้งเปิดให้ SMEs/Startup สามารถเสนอขายหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ผู้ลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน (อันได้แก่ นิติบุคคลร่วมลงทุน (Venture Capital) กิจการเงินร่วมลงทุน (Private Equity) และผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Angel investor) ผู้ลงทุนสถาบัน และพนักงาน ได้โดยตรง และการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเปิดโอกาสให้ระดมทุนผ่านหุ้นกู้คราวด์ฟันดิ้ง (Debt Crowdfunding) ได้ง่ายขึ้น ตลอดจนพัฒนากฎเกณฑ์ให้ SMEs สามารถเสนอขายหุ้นในวงกว้างได้ โดยเป็นครั้งแรกที่นำหลักการเปิดเผยข้อมูลมาใช้แทนการอนุญาตเพื่อประกอบการพิจารณาคุณสมบัติของกิจการที่เสนอขายหุ้น ทั้งนี้ การปรับปรุงเกณฑ์ต่าง ๆ จะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในปี 2563

2.2 ด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน จะมีการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆภายใต้แผนการพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมครัวเรือนในการลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นและให้ประชาชนเข้าใจทางเลือกต่าง ๆ ในการออม เพื่อให้มีเงินใช้เพียงพอกับการดำรงชีวิตในยามชราภาพ ทั้งนี้ แผนดังกล่าวมีโครงการที่ตลาดทุนจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยพัฒนาทักษะการเงินในระดับฐานรากและตอบสนองยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่โดยผ่าน (1) โครงการหมอคลังอาสา ซึ่งดำเนินการผ่านบุคลากรของกระทรวงการคลังที่อยู่ประจำในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นผู้นำผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ เข้าไปให้ความรู้และพัฒนาทักษะทางการเงินแก่บุคลากรที่มีบทบาทในชุมชน อาทิ ครู พัฒนากร ปราชญ์ท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชนในชุมชน โดยจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563 (2) โครงการ Happy Money, Happy Village เป็นการพัฒนาต่อยอดโครงการหมอคลังอาสา โดยมุ่งส่งเสริมความรู้และทักษะการเงินขั้นพื้นฐาน ให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย มีปัญหาหนี้สินนอกระบบและมีเงินออมน้อย โดยจัดทำชุดสื่อความรู้ที่พัฒนาให้เข้าใจง่ายและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งพัฒนา Trainers แก่กลุ่มผู้นำชุมชนจากหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อเป็นเครือข่ายการเผยแพร่ความรู้ได้อย่างยั่งยืน โดยจะกำหนดเป้าหมายภายในปี 2564 ให้มีหมู่บ้านนำร่องอย่างน้อยจังหวัดละ 1 หมู่บ้าน ที่สมาชิกทุกครัวเรือนปลอดจากหนี้สินนอกระบบ มีความสามารถในการชำระหนี้สินในระบบ และทุกครัวเรือนมีวินัยการออม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการออมและลงทุนจริงในภาคปฏิบัติผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ กองทุนการออมแห่งชาติ และสถาบันการเงินในเครือข่าย และ (3) โครงการ platform ความรู้การเงินการลงทุนสำหรับคนไทย สร้างศูนย์กลางความรู้การเงินและการลงทุนที่ครบวงจรรวมถึงเตือนภัยทางการเงินไว้ในแหล่งเดียวในรูปแบบเว็บไซต์ เป็นการบูรณาการแหล่งความรู้โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่ให้ความรู้ทางการเงิน และรองรับแผนการพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทยของกระทรวงการคลังผ่านเครื่องมือที่หลากหลาย โดยจะสามารถเริ่มให้บริการได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2563 นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. มีการลงพื้นที่ (reach out) และจัดฝึกอบรมวิทยากรตัวคูณ หรือ Train the trainer เพื่อสร้างเครือข่ายภาคประชาชน และร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อกระจายความรู้สู่กลุ่มผู้นำสตรีและเยาวชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

2.3 ด้านการพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Digital Infrastructure) ตลาดทุนอย่างบูรณาการ เพื่อให้กระบวนการออกและเสนอขายหลักทรัพย์เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นและลดค่าใช้จ่ายในการระดมทุน โดยในระยะแรกจะเริ่มที่ตราสารหนี้และจะเชื่อมต่อกับ Platform อื่น ๆ คาดว่าระบบ จะเริ่มใช้งานได้ในไตรมาส 4 ปี 2563 นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนากฎเกณฑ์รองรับการระดมทุนในรูปแบบดิจิทัล (Securities Token Offering) ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ เพื่อตอบรับตลาดทุนดิจิทัลและคุ้มครองผู้ลงทุน อย่างเหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปีนี้ นอกจากนั้น ยังมีโครงการ 1 Baht Bond เป็นการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ที่มีราคาต่อหน่วยต่ำเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึง ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-wallet และเพื่ออำนวยความสะดวก สร้างโอกาสให้ประชาชนรายย่อยสามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยระบบจะเริ่มใช้งานได้ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563

การดำเนินการต่าง ๆ ตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจไทยผ่านกลไกตลาดทุนนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จะทำงานประสานกับคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development Fund: CMDF) ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินการตามแผนงานต่าง ๆ ภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย ทั้งในการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน การสร้าง Eco-system ให้ผู้ประกอบธุรกิจ สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุน รวมถึงการให้ความรู้ทางการเงินต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตลาดทุน

คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยขอให้ความมั่นใจกับผู้ลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันเพื่อดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการสร้างเสถียรภาพในตลาดทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว อันจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยจะยังขับเคลื่อนต่อไปได้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ