สจด. มุ่งผลิตบัณฑิตนักวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปีที่ 2 แขนกลสำหรับเตรียมซูชิ คว้าแชมป์

ศุกร์ ๑๓ มีนาคม ๒๐๒๐ ๑๕:๐๗
จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้วสำหรับการประกวดโครงงานนักศึกษาเพื่อส่งเสริมการวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เพื่อเฟ้นหา ผลิตและพัฒนากำลังคน รวมทั้งงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศในการพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่มีคุณภาพ โดยปีนี้มีผลงานวิจัยของนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 13 ผลงาน

ผศ.ดร.สุรพันธ์ ตันศรีวงษ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาความรู้ ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ด้านการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นของนักศึกษาควรดำเนินการอย่างมีแบบแผนและเป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเติบโตสู่การเป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์คิดค้นที่ดี มีคุณภาพ สามารถผลิตผลงานสิ่งประดิษฐ์เผยแพร่สู่สาธารณะชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น การส่งเสริมการพัฒนาการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ในแนวทางหนึ่งคือการสนับสนุนให้จัดแสดงและเผยแพร่ผลงานการประดิษฐ์คิดค้นจากโครงงานนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์ผลงาน นอกจากนี้นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ๒ และ ๓ จะมีส่วนร่วมในการศึกษาและเรียนรู้การสร้างสิ่งประดิษฐ์จากผลงานที่จัดแสดง ก่อให้เกิดแนวความคิดพัฒนาและต่อยอดโครงงานวิจัยในอนาคต และเพื่อคัดเลือกผลงานในการแข่งขันระดับชาติด้วย

รศ.ดร.ปรีชา กอเจริญ หัวหน้างานวิจัยและนวัตกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปีนี้นักศึกษาร่วมส่งผลงานในการประกวดจำนวนทั้งสิ้น 13 ผลงาน ได้แก่ การประยุกต์ใช้แขนกลสำหรับเสิร์ฟซูชิอัตโนมัติ การพัฒนาระบบตรวจวัดและวิเคราะห์การใช้พลังงานในอาคารกรณีศึกษาห้องปฏิบัติการคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม อาคาร 605 เครื่องลำเลียงผลิตภัณฑ์ประเภทหลอดครีมป้อนเครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องวัดปริมาณเพลี้ยกระโดด เครื่องอบแห้งตะลิงปลิงพลังงานสองระบบ การพัฒนาระบบเพาะเลี้ยงเห็ดถังเช่าอัตโนมัติ พัฒนาระบบแขนกลสำหรับเตรียมซูชิ รางขนส่งฝรั่งอัตโนมัติสำหรับสวนแบบท้องร่อง หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติภายในอาคารควบคุมด้วยROS รถเก็บลำไยควบคุมการขึ้น-ลงด้วยมอเตอร์ เครื่องตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างของน้ำโดยสื่อสารผ่านทางเครือข่าย LoRaWAN เครื่องแยกเศษกระจกจากสีของกระจก และเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนส่งสัญญาณผ่านระบบ NB-IoT โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ “การพัฒนาระบบแขนกลสำหรับเตรียมซูชิ” โดยนางสาวปุณยาพร ควรสุวรรณ นายกรัณย์กฤษณ์ ร่มโพธิ์โชติกา และนายติณณภพ โพธิ์สุวรรณ

สำหรับผลงาน “การพัฒนาระบบแขนกลสำหรับเตรียมซูชิ” นักศึกษาผู้คิดค้นได้นำเสนอถึงแนวคิดและหลักการทำงานว่าด้วยอัตราความแข่งขันด้านอุตสาหกรรมอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการสร้างความแตกต่างร้านอาหารจึงใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการโปรโมทและดึงดูดลูกค้า เช่น การใช้หุ่นยนต์ทำราเมง หรือหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร ที่ประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับคนไทยนิยมรับประทานอาหารญี่ปุ่นโดยเฉพาะซูชิ และประเทศไทยก็มีเทคโนโลยีแขนกลที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ทางทีมงานจึงมีแนวคิดที่จะใช้แขนกลมาประกอบอาหารและเสิร์ฟในลักษณะของการโชว์ทำอาหาร หรือเรียกว่า Live cooking เพื่อสร้างความแปลกใหม่ สำหรับผลงานดังกล่าว

มีองค์ประกอบการทำงาน 2 ส่วนคือ Programming ที่เขียนขึ้นมาเพื่อรองรับการสั่งเมนูอาหารผ่านทางแอพพลิเคชัน LabVIEW หลังจากได้รับคำสั่งแล้วโปรแกรมดังกล่าวจะควบคุมการทำงานของแขนกลที่ได้ตั้งค่าคำสั่งต่างๆไว้ เช่น ค่าแกนต่าง ๆของแขนกล X Y Z และ R ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งเข้ามาที่ Controller หรือ Arduino MEGA เพื่อนำค่าเหล่านี้มาสั่งให้หุ่นยนต์ทำงานแต่ก่อนที่หุ่นยนต์จะทำงาน จะมีระบบ Vision คือการนำกล้องมาประยุกต์ใช้ โดยได้โปรแกรมกล้องให้สามารถตรวจเช็ควัตถุดิบได้ ถ้าหากไม่มีวัตถุดิบเตรียมอยู่โปรแกรมก็จะไม่ทำงาน แขนกล จะทำงานร่วมกับราง Conveyer เพื่อเตรียมวัตถุดิบตามคำสั่งที่ได้รับมาโดยตอนนี้ผู้พัฒนาได้พัฒนาโปรแกรมให้สามารถเตรียมได้ 2 แบบ คือเตรียม แบบ SUSHI และ SASHIMI (ประเภทปลา) เนื่องจากหัวที่ติดอยู่กับแขนกล ต้องมีลักษณะที่พิเศษที่สามารถหยิบจับซูชิในหน้าต่างๆ ได้แบบมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นแขนกลจะย้ายการทำงานจากโต๊ะเตรียมวัตถุดิบไปโต๊ะเตรียมเสิร์ฟซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ส่วนที่สองคือ Gripper ทางคณะทีมงานได้คิดค้น gripper ที่มีลักษณะเฉพาะกับการหยิบซูชิออกมาหลากหลายรูปแบบ ซึ่งการออกแบบได้คำนึงถึงวัสดุที่จะนำมาใช้ โดยต้องเป็นวัสดุ food grade เท่านั้น จึงนำเอาเทคโนโลยี soft robotic gripper ซึ่งทำมาจากยางซิลิโคน food grade เหตุผลที่เลือกใช้ซิลิโคนเนื่องจากสามารถถอดล้างและทำความสะอาดได้ง่ายเหมาะกับการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร

ทั้งนี้ รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ได้กล่าวปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญในการสร้างบัณฑิต นักคิด นักปฏิบัติ ในการสร้างผลงานนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติว่าอยากให้คนรุ่นใหม่เมื่อได้เห็นสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรม ให้พิจารณาดูว่าเรามีความสามารถในการประดิษฐ์และสรรค์สร้างด้วยวิธีการใดบ้าง โดยที่ประดิษฐ์ขึ้นเองไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อ ซึ่งจะเป็นการสร้างและฝึกทักษะในการเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ให้กับตนเองได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๑ OR จับมือภาครัฐและผู้ประกอบการชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพการตลาดผลิตภัณฑ์ OTOP ผ่านโครงการ 'ไทยเด็ด' มุ่งเสริมแกร่งเศรษฐกิจชุมชนไทยอย่างยั่งยืน
๑๖:๒๒ เทลสกอร์ จับมือพันธมิตร ขับเคลื่อนโครงการ 'Help You, Help Me' สู่ปีที่ 6 ผสานพลังคอนเทนต์ครีเอเตอร์ สนับสนุนโครงการเพื่อสังคม
๑๖:๐๐ เซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว สนับสนุนภารกิจกู้ภัย มอบอาหารและเครื่องดื่มให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์
๑๖:๐๐ ร้อนๆแบบนี้ มาหมุนให้ฉ่ำ!!สนุกสุดมันส์ไปกับเครื่องเล่น Water Roller ลูกบอลน้ำมหาสนุก
๑๖:๕๒ ซัมเมอร์นี้ชวนเช็กอินสมุย แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของชาวเวลเนส ที่ BDMS Wellness Clinic สาขา Celes Samui
๑๖:๑๑ โซเชียลจับตา ตึกถล่ม-อาฟเตอร์ช็อก ประเด็นร้อนหลังแผ่นดินไหว
๑๕:๐๐ กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เหียะน้อย พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่
๑๕:๐๐ GoWabi แพลตฟอร์มจองบริการบิวตี้ครบวงจรอันดับ 1 ในไทยเปิดตัวบริการ GoWabi POS พร้อมประกาศรางวัล GoWabi Top Rated
๑๕:๐๓ ทีทีบี เชิญชวนเที่ยว พิพิธภัณฑ์ครุฑ สืบสานพลังศรัทธา สรงน้ำ สมเด็จมหาราชทรงครุฑ เสริมพลังบุญรับปีใหม่ไทย
๑๕:๕๑ บัตรเครดิต ทีทีบี มอบโปรฯ ฟรีอัปเกรด! HUT บุฟเฟต์ อิ่มไม่อั้น จ่ายเพียง 399 บาท