นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กล้วยเล็บมือนางเป็นพืชท้องถิ่นทางภาคใต้ มีพื้นที่ปลูกกระจัดกระจายในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ระนอง และภูเก็ต มีพื้นที่ปลูกประมาณ 20,000 ไร่ สร้างรายได้ให้เกษตรกรปีละกว่า 280 ล้านบาท กล้วยเล็บมือนางมีคุณสมบัติเด่นหลายประการ เช่น ผลและเนื้อมีสีเหลืองทอง เนื้อแน่น กลิ่นหอมน่ารับประทาน ก้านผลสั้น และแข็งแรง การเรียงตัวของผลในหวีเป็นระเบียบ ขนาดหวีเล็กเหมาะต่อการบรรจุหีบห่อ และขนส่ง ผลมีขนาดเล็กเหมาะต่อการบริโภคในแต่ละครั้ง และเนื่องจากกล้วยเล็บมือนางเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยจึงเป็นที่นิยมรับประทานทั้งผลสดและการแปรรูปเช่น รวมทั้งยังเป็นสินค้าประจำจังหวัดชุมพรโดยได้จดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ชื่อว่า “กล้วยเล็บมือนางชุมพร”
กล้วยเล็บมือนางเป็นพืชมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจสำหรับตลาดภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร กรมวิชาการเกษตร จึงได้สำรวจคัดเลือก และรวบรวมกล้วยเล็บมือนางสายต้นที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพผลผลิตดี ลักษณะผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดจากแปลงเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่ปี 2554 คัดเลือกได้ 21 สายต้นนำมาปลูกเปรียบเทียบและคัดเลือกสายต้นที่เจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง เหมาะสำหรับแปรรูปและรับประทานผลสดได้จำนวน 5 สายต้น นำมาปลูกขยายหน่อพันธุ์ ปลูกทดสอบในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยใช้สายต้น 001 พันธุ์พื้นเมืองเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ จนได้สายต้นดีเด่น 008 ที่มีการเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง เหมาะสำหรับแปรรูปและรับประทานผลสด ผ่านการประเมินการยอมรับพันธุ์จากเกษตรกร ร้านค้า และผู้บริโภคผ่านการรับรองเป็นพันธุ์แนะนำจากกรมวิชาการเกษตร ในปี 2562 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ชุมพร 1”
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ชุมพร 1 มีลักษณะเด่น คือ เครือใหญ่ น้ำหนักเครือ 5.7 กิโลกรัม พันธุ์พื้นเมืองน้ำหนักเครือ 4.9 กิโลกรัม ผลมีขนาดใหญ่น้ำหนักผล 33.8 กรัม พันธุ์พื้นเมืองน้ำหนักผล 32.8 กรัม น้ำหนักหวี 664 กรัม พันธุ์พื้นเมืองน้ำหนักหวี 631 กรัม เนื้อแน่น เหมาะสำหรับการแปรรูปทั้งทำกล้วยอบและฉาบ และบริโภคผลสุก รวมทั้งการจัดเรียงของผลในหวีเป็นระเบียบเหมาะแก่การบรรจุหีบห่อในการขนส่งหรือส่งออก ในขณะที่กล้วยเล็บมือนางพันธุ์อื่นๆ ส่วนใหญ่การจัดเรียงของผลในหวีไม่เป็นระเบียบทำให้ยากต่อการบรรจุหีบห่อ
กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ชุมพร 1 มีลักษณะเครือและหวีขนาดใหญ่ทำให้มองดูสวยงามเป็นจุดสนใจน่า ซื้อเป็นที่ต้องการของผู้ขายและผู้บริโภค และเนื่องจากผลมีขนาดใหญ่ทำให้ง่ายต่อการแปรรูปโดยเฉพาะการทำกล้วยฉาบเพราะทำได้ง่ายกว่าพันธุ์พื้นเมือง เพราะผลมีขนาดใหญ่สะดวกในการหั่น เมื่อทอดเสร็จแล้วแผ่นกล้วยฉาบมีขนาดใหญ่มองดูน่ารับประทาน ในปี 2562 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร ได้ทำแปลงหน่อพันธุ์ภายในพื้นที่ 2 ไร่ จำนวน 800 กอ และเพาะเลี้ยงต้นกล้าพันธุ์กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ชุมพร 1 โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไว้ 10,000 ต้น
เกษตรกรที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการ เกษตรชุมพร กรมวิชาการเกษตร โทร.0-7761-1025