ในปี 2562 ที่ผ่านมา การระดมทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ (PropTech) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 625.9 ล้านดอลลาร์ ลดลง 38.4% จากระดับ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการระดมทุนรวมทั้งสิ้นราว 72.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นยอดการระดมทุนสูงสุดเป็นอันดับสองของเอเชียแปซิฟิก และสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับพร็อพเทคตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
คริส ฟอสสิค ซีอีโอภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเจแอลแอล กล่าวว่า “จากสถิติประชากรศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีองค์ประกอบที่เอื้อต่อการลงทุนด้านพร็อพเทค อาทิ การขยายตัวของจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวที่มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยี การขยายตัวของเมือง และการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดที่มีความโปร่งใสมากขึ้น คาดว่า การลงทุนในพร็อพเทคของภูมิภาคนี้จะยังคงขยายตัวและมีบทบาทมากขึ้น ในการเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารจัดการและการทำธุรกรรมซื้อขายให้เช่าอสังหาริมทรัพย์”
ข้อมูลจาก Tech in Asia สื่อที่เน้นการนำเสนอข่าวสารด้านเทคโนโลยี ซึ่งได้ร่วมมือกับเจแอลแอลในการศึกษาการลงทุนในพร็อพเทค แสดงให้เห็นว่า การระดมเงินทุนในพร็อพเทคของภูมิภาคมีมูลค่าลดลงในปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังให้ความสนใจอย่างมากกับการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้านพร็อพเทคที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพในระดับซีรีส์ A หรือต่ำกว่านั้น
จอร์แดน คอสเตแล็ค ผู้อำนวยการดูแลด้านพร็อพเทคภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของเจแอลแอล กล่าวว่า “วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีในภาคอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่นๆ ซึ่งหมายความว่า ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับการสร้างนวัตกรรมและการลงทุนใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยี สำหรับเอเชียแปซิฟิก พบว่า การใช้พร็อพเท็คโดยบริษัทต่างๆ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในส่วนของเจแอลแอลเอง เรามีการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายสำหรับให้บริการแก่ลูกค้า นอกจากนี้ เมื่อสองปีที่แล้ว เราได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมา เพื่อศึกษาเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีการพัฒนาขึ้น สำหรับนำมาใช้ในการให้บริการแก่ลูกค้า”
อินโฟร์กราฟฟิกโดย Tech in Asia แสดงให้เห็นว่า สตาร์ทอัพระดับซีรีย์ A มีการระดมทุนมูลค่าเพิ่มขึ้นมากที่สุด จาก 12 ล้านดอลลาร์ในปี 2561 เป็น 26.1 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้น 117.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนการระดมทุนโดยรวมสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 13.8 ล้านดอลลาร์ในปี 2560 เป็น 72.9 ล้านดอลลาร์ในปี 2562
นายคอสเตแล็คคาดว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์จะให้ความสนใจอย่างสูงกับการลงทุนในเทคโนโลยีที่สามารถรับมือกับปัญหาการบริหารจัดการและใช้ข้อมูลของลูกค้าที่กลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น ภายหลังจากที่หลาย ๆ ประเทศได้ประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว
“เราอยู่ในยุคที่การรวบรวมจัดเก็บข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น แต่การจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ จำเป็นต้องคำนึงให้มากถึงประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว ซึ่งหมายความว่า จำเป็นต้องมีการปกป้องและบริหารจัดการข้อมูลที่ดี”
“ในขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากขึ้นในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น จึงมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นสำหรับพร็อพเท็คที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทคโนโลยีที่สามารถช่วยในการตรวจสอบวิเคราะห์การใช้พลังงานในอาคาร”
เจแอลแอลจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกธุรกิจบริการและบริหารการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินธุรกิจในกว่า 80 ประเทศและมีพนักงานทั่วโลกรวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 93,000 คน สำหรับในประเทศไทยเริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2533 ปัจจุบันเป็นบริษัทระหว่างประเทศผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยพนักงาน 1,600 คน มีอสังหาริมทรัพย์และสถานประกอบการภายใต้การบริหารจัดการคิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 6 ล้านตารางเมตร
จากการประกาศรางวัล International Property Awards 2019-2020 เจแอลแอลประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะรางวัลระดับห้าดาวในสาขาที่ปรึกษาและตัวแทนซื้อขายให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่ดีที่สุดของประเทศ และเป็นที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่ดีที่สุดของเอเชียแปซิฟิก ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเจแอลแอลเพิ่มเติมได้ที่ www.jll.co.th