นายวุฒิพล ท้วมภูมิงาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่าปตท.สผ.ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและการส่งเสริมการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่ประมงชายฝั่งโดยเฉพาะปู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญ ทางเศรษฐกิจจึงจัดทำโครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูขึ้น โดยศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูม้าปากน้ำแพรกเมืองจะเป็นศูนย์ที่ 4 ที่ ปตท.สผ.ร่วมจัดตั้งขึ้น ซึ่งจากผลงานของศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูที่ได้เปิดไปแล้วทั้ง3 ศูนย์ในจังหวัดสงขลา และปัตตานีสามารถปล่อยลูกปูม้าคืนสู่ทะเลได้ปีละกว่า 1,600 ล้านตัวและทำให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาทต่อปี ซึ่ง ปตท.สผ.รู้สึกยินดีที่มีส่วนร่วมในการสร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งให้กับชุมชนตามแนวทางของบริษัท
นอกจากการเพาะฟักลูกปูแล้ว ปตท.สผ. ยังสนับสนุนให้ศูนย์เครือข่ายฯขยายผลไปสู่การเพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ด้วยรวมทั้ง มีแผนจะขยายศูนย์เครือข่ายฯ เพิ่มอีก 3 แห่งในปี 2563นี้ และตั้งเป้าหมายจะขยายศูนย์ฯเข้าไปใน 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย ภายในปี 2567
ความสำเร็จในการขยายศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูม้าปากน้ำแพรกเมืองอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มอนุรักษ์ปูม้าชายฝั่งปากน้ำแพรกเมืองสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 และชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเห็นความสำคัญและมีแนวทางร่วมกันในการเพิ่มประชากรปูและสัตว์น้ำอื่น ๆ คืนสู่ธรรมชาติรวมทั้ง พัฒนาอาชีพประมงพื้นบ้านให้มีความยั่งยืน
ด้านนายสันติ นิยมเดชาประธานกลุ่มอนุรักษ์ปูม้าชายฝั่งปากน้ำแพรกเมือง กล่าวว่าท้องทะเลตรงหน้าบ้านในพื้นที่อ่าวไทยคือพื้นที่ทำมาหากินเปรียบได้กับชีวิตของชาวประมงทุกคน ทุกวันนี้ทรัพยากรมีน้อยลงแต่เครื่องมือประมงมีจำนวนมาก ไม่สมดุลกันเราต้องช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรตรงหน้าบ้านของเราเพื่อให้ลูกหลานสามารถทำอาชีพประมงได้ต่อไป อาชีพของพวกเราก็จะมั่นคงครอบครัวมีความสุข อยู่กันไปได้อย่างยั่งยืน ขอขอบคุณ ปตท.สผ.ที่ช่วยสนับสนุนเราให้จัดตั้งศูนย์นี้ได้สำเร็จ
โครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูเป็นโครงการที่ ปตท.สผ. จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2556 โดยร่วมมือกับกลุ่มป.ทรัพย์อนันต์ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง (NICA)สถาบันทรัพยากรชายฝั่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิชัยตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาเป็นแห่งแรก เพื่อพัฒนาความรู้ด้านการเพาะฟักลูกปู สามารถสร้างเครือข่ายฯและขยายผลจัดตั้งศูนย์เครือข่ายฯ เพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูกลุ่มพังสาย อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลาศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูกลุ่มปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และล่าสุดคือ ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูม้าปากน้ำแพรกเมือง อำเภอหัวไทรจังหวัดนครศรีธรรมราช