รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอทั่วประเทศ จัดการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรแก่เกษตรกรที่ได้รับจัดสรรที่ดินทำกินตามความต้องการของเกษตรกรและความเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่
โดยยึดหลักการทำการเกษตรด้วยระบบเกษตรยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนจัดหาวัสดุการเกษตรที่จำเป็นสอดคล้องกับลักษณะการจัดสรรพื้นที่ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายในสมุดบันทึกบัญชีครัวเรือนนั้น ปัจจุบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถ
ลดรายจ่ายจากการซื้อพืชผักสวนครัวและอาหารไว้บริโภค เฉลี่ย 500 - 3,000 บาท/เดือน ประกอบกับมีรายได้จากการจำหน่ายพืชผักสวนครัวที่เหลือจากการบริโภค 500 - 1,500 บาท/เดือน นอกจากนี้ หากในระยะยาวไม้ยืนต้นและไม้ผลให้ผลผลิต คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีก 2,000 – 30,000 บาท/ปี ทั้งนี้ ปี 2563 กรมส่งเสริมการเกษตร สร้างเกษตรกรต้นแบบรวม 30 ราย โดยมีแปลงที่ดินทำกินต้นแบบแล้วใน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อุทัยธานี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ และพัทลุง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ยังพัฒนาให้เกษตรกรต้นแบบจากโครงการนี้ สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรรายอื่นและผู้สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมเยียนเรียนรู้ได้ เช่น นายสุ่ม คุณทวงศ์ ต.ระกำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี มีความรู้ในการทำเกษตรผสมผสาน นางสาวลริสราพร มังคละ ต.ชุมตาล อ.ท่าวังผา จ.น่าน มีความรู้ในการปลูกข้าวอินทรีย์ ผลิตน้ำส้มควันไม้ไผ่ และผลิตถ่านจากไม้ไผ่ และนางประภาภรณ์ พื้นผา ต.นาจำปา อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ มีความรู้ในการปลูกผักหวานป่า และทำเกษตรผสมผสาน โดยเกษตรกรต้นแบบแต่ละคนมีแนวคิดต่อยอด/ขยายผลการทำเกษตรของตนให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เทคโนโลยีเพิ่มเติม เช่น ระบบน้ำหยด ตลอดจนพัฒนาสู่การเป็นวิทยากรเกษตรกรที่เชี่ยวชาญเพื่อช่วยถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรที่ได้รับจัดสรรที่ดินทำกินรุ่นต่อไป