นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับฟังการรายงานผลการดำเนินงานจากหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในการวิเคราะห์ผลกระทบและความเสี่ยงทางด้านการเกษตรจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการประเมินสินค้าที่ได้รับผลกระทบ ทั้งมะม่วง ที่ผลิตเพื่อการส่งออก พืชผัก ที่กระทบกับผู้ขายรายย่อย ผลไม้ ในการเพิ่มช่องทางพิเศษในการขนส่ง และไม้ดอก ในการจัดหาตลาดรองรับ กรมปศุสัตว์ รายงานสถานการณ์ไข่ไก่ โคเนื้อ สุกร และนมโค ที่มีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ กรมประมง รายงานการส่งออกสินค้าประมง โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารแช่แข็ง ที่คาดว่าจะลดลงประมาณ 10 – 20% เมื่อเทียบกับปี 2562 การนำเข้าสินค้า มีแนวโน้มลดลง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สินค้าที่อาจได้รับผลกระทบ คือ กุ้ง ปลาน้ำจืด และปลาสวยงาม โดยได้มีการกำหนดมาตรการแก้ไขในระยะสั้นไว้ กรมการข้าว รายงานผลผลิตข้าวนาปี จำนวน 24 ล้านตัน เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ และความก้าวหน้าการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่เกษตรกรที่ประสบอุทกภัยและภัยแล้งปี 2562 กรมส่งเสริมสหกรณ์ รายงานการกระจายสินค้าผ่านช่องทางสหกรณ์การเกษตรกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ และการลดภาระหนี้สินให้กับสมาชิกสหกรณ์ และกรมวิชาการเกษตร รายงานผลการบริการ การตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และการตรวจรับรองโรงงานคัดบรรจุ สำหรับการส่งออกที่จะต้องได้รับมาตรฐาน GAP
อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานภายใต้ประกาศที่ทางรัฐบาลกำหนด แต่ต้องไม่กระทบกับการบริการให้กับประชาชน อีกทั้งให้หาแนวทางหรือมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย