“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.การอุดมศึกษาฯ สั่งเกลี่ยงบ อว.ใหม่ ดึง 3,000 ล้านกู้วิกฤติโควิด-19

อังคาร ๓๑ มีนาคม ๒๐๒๐ ๑๕:๑๑
รมว.การอุดมศึกษาฯ สั่งเกลี่ยงบ อว.ใหม่ ดึง 3,000 ล้านกู้วิกฤติโควิด-19 พร้อมตั้งคณะทำงานรับมือ ทั้งคณะแพทย์ วิศวฯระดมนวัตกรรมการแพทย์สู้ ทั้งเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย -หมวกปรับแรงดันสำหรับห้องผ่าตัด -หน้ากากN95 -ชุดป้องกัน-เครื่องช่วยหายใจ-ห้องควบคุมความดันลบ-โรงพยาบาลสนาม รองรับสถานการณ์วิกฤตขั้นสุด

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้สั่งการให้ผู้บริหาร อว.เกลี่ยงบประมาณภายใน อว.จำนวน 3,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์และการเตรียมพร้อมของโรงพยาบาลในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย เกลี่ยได้มาแล้ว 2,000 ล้านบาท และจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อีกจำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อปลดล็อคปัญหาด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยจะเป็นการทำงานบนพื้นฐานการเตรียมพร้อมในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดพร้อมทั้งสั่งการให้มีการจัดตั้งคณะทำงานรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งจะรวบรวมนวัตกรรมทั้งหมดของ อว. และเชื่อมโยงการทำงานในรูปแบบจตุรภาคี ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคเอกชน/อุตสาหกรรม และ อว. ในการพัฒนาและผลิตด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ หน้ากาก N95 ชุด PPE ห้องควบคุมความดันลบ โรงพยาบาลสนาม/เปลขนย้ายและเครื่องช่วยหายใจ

ด้าน ผศ.อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดี คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดเผยว่า หน่วยงานวิจัยของคณะแพทย์ศาสตร์วิชรพยาบาล มีนวัตกรรม 4 ตัวที่มีการผลิตออกมาใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย นวัตกรรมแรก คือ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ที่ปรับมาจากห้องปลอดเชื้อที่ใช้กับคนไข้วัณโรค ปัจจุบันผลิตออกมาแล้ว 11 ตัว ใช้ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 2 ตัว และแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลอื่น ราคาประมาณ 1 แสนกว่าบาท พร้อมทั้งเตรียมการต่อยอดนำนวัตกรรมโดยได้ประสานบริษัท ปตท. และฮอนด้า ในการนำต้นแบบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ไปผลิตต่อ

โดยขณะนี้ ปตท. สามารถผลิตกล่อง HEPA Filter ได้เอง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง รวมถึงอาจมีการปรับเปลี่ยนวัสดุ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วสามารถผ่านมาตรฐานวิศวกรรมสถาน ก็ถือว่าใช้งานได้คาดว่าจะใช้เวลาการผลิตราว 2 เดือน ในการผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ออกมาใช้งานได้ถึง 200 ตัว ก็คาดว่าจะเพียงพอต่อการใช้งานทั้งประเทศ นวัตกรรมที่ 2 หมวกปรับแรงดันบวกสำหรับใช้ในห้องผ่าตัด (Powered Air-Purifying Respirator – PAPR) อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อการต่อท่อหายใจให้กับคนไข้ติดเชื้อรุนแรง ที่ต้องซื้อจากต่างประเทศ ราคาราว 5 หมื่นบาท แต่คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล สามารถผลิตได้ด้วยงบประมาณเพียง 2 พันบาท มีจุดต่างเพียงแค่วัสดุคลุมหมวกที่เป็นผ้าใบ แต่คุณภาพการใช้งานไม่ต่างกัน เบื้องต้นสามารถผลิตได้ 300-500 ตัว คาดว่ามีความต้องการใช้ 20 ตัวต่อหนึ่งโรงพยาบาล รวมความต้องการอยู่ในราว 1,000 ตัว โดยหากมีการร่วมมือในการผลิตจะใช้เวลาเพียง 1 เดือน ก็สามารถรองรับความต้องการใช้ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายๆ โรงพยาบาลเริ่มผลิตหลังจากคณะแพทย์ศาสตร์ วชิรพยาบาลเปิดตัวนวัตกรรมนี้ออกไป

ผศ.อนุแสง กล่าวต่อว่า นวัตกรรมที่ 3 หน้ากากอนามัยไส้กรอง N99 โดยการหล่อหน้ากากซิลิโคนที่สามารถผลิตได้เองในประเทศไทย ต่อเข้ากับ HEPA Filter ของเครื่องช่วยหายใจ ยึดติดให้แนบหน้าด้วยยาง 2 เส้นเช่นเดียวกับหน้ากาก N95 โดยมีต้นทุนในการหล่อหน้ากากซิลิโคนเพียง 100-200 บาท ขณะที่ HEPA Filter ปัจจุบันยังต้องนำเข้า แต่อนาคตประเทศจะสามารถผลิตได้เอง ก็จะทำให้ต้นทุนรวมลดต่ำลง โดยหน้ากากอนามัยไส้กรอง N99 มีกำลังการผลิตราว 200 ชิ้นต่อวัน คาดว่า ภายในเวลา 1 สัปดาห์สามารถผลิตได้เพียงพอต่อการส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยโควิด -19 โดยเฉพาะกับโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ยังขาดแคลน และนวัตกรรมที่ 4 ชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE เป็นนวัตกรรมการผลิตชุดป้องกันจากเกรด 4 ขึ้นเป็นเกรด 5 หรือ Medical Grade ที่เปลี่ยนวัสดุจากไฟเบอร์ซึ่งเป็นวัสดุที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มาเป็นพลาสติกสปันบอนด์ที่เป็น Polypropylene ที่สามารถกันน้ำได้ โดยได้รับการทดสอบจากสถาบันบำราศนราดูรว่าสามารถใช้ได้ไม่ต่างจากชุดป้องกันเกรด 5 โดยต้นทุนของการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคลจะอยู่ในราวชุดละกว่า 100 บาท อย่างไรก็ตาม คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล ได้รับความร่วมมือกับ พีทีทีจีซี และไออาร์พีซี 2 บริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ของเมืองไทย สนับสนุนวัสดุพลาสติกในการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคล คาดว่าจะสามารถผลิตเบื้องต้นราว 500 - 2,000 ตัว โดยมีความต้องการอยู่ราวแสนตัว อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคลอีกส่วนสำคัญคือ การเย็บชุดที่ปัจจุบันโรงงานส่วนใหญ่ปิดกิจการก็อาจทำให้การผลิตล่าช้า

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ