นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วประเทศเพื่อควบคุมมิให้โรคติดเชื้อโควิด-19 ( COVID-19) แพร่ระบาดในวงกว้าง มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 นั้น ในส่วนของผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในเขตสุขภาพที่9 ประกอบด้วยนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งส่วนใหญ่อาการเรื้อรัง ต้องกินยาต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการและป้องกันการป่วยซ้ำ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้านและชุมชน จึงขอให้ญาติและครอบครัว ช่วยกันดูแลผู้ป่วยเป็นกรณีพิเศษให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ โดยให้อยู่ที่บ้านให้มากที่สุด ทำกิจวัตรประจำวันที่เคยมี ใช้ชีวิตอย่างปกติในรูปแบบที่ปลอดภัย เช่นอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร ไม่อยู่ใกล้กับผู้ที่มีอาการไข้หวัด ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ พักผ่อนให้เพียงพอ กินยาตามแพทย์สั่ง พาไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุราหรือใช้สารเสพติดใดๆ
“ประการสำคัญ ขอให้ญาติระมัดระวังอาการกำเริบ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีสัญญาณอาการเตือนล่วงหน้ามาก่อนเสมอ
5
อาการดังต่อไปนี้ 1. ไม่หลับไม่นอน หรือนอนหลับๆตื่นๆ 2. เดินไปมา คือ
มีพฤติกรรมนั่งไม่ติดที่ เดินไปเดินมา
3. พูดจาคนเดียว เช่นพูด ยิ้ม หรือหัวเราะคนเดียว
ซึ่งแสดงถึงว่าผู้ป่วยเกิดอาการหูแว่วหรือเห็นภาพหลอน 4. มีอารมณ์หงุดหงิด
ฉุนเฉียว อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย และ5. หวาดระแวง เช่นคิดว่ามีคนนินทาว่าร้าย มีคนแอบฟัง
หรือคอยติดตามทำร้ายเป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมาปรากฏอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กล่าวมา
ขอให้รีบแจ้งขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที ไม่ต้องรอดูหรือปล่อยให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงก่อน
ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาโดยฉับไวและใกล้บ้าน เพื่อควบคุมอาการให้สงบได้อย่างทันท่วงที
จะมีผลดีต่อตัวผู้ป่วย และป้องกันปัญหาการนอนรักษาซ้ำในรพ.”
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อไปว่า
สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถดูแลจิตใจตนเองในระหว่างที่โรคโควิด -19
แพร่ระบาด ขอให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำตามหลัก
5 ร. ของกรมสุขภาพจิต ได้แก่ 1. รู้อารมณ์ หาวิธีผ่อนคลายความเครียด
เช่นดูหนัง ดูตลกทางมือถือ หรือทางคอมพิวเตอร์ ฟังเพลง ฝึกสมาธิ
หลีกเลี่ยงการใช้วิธีคลายเครียดที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่ สูบบุหรี่
ดื่มเหล้าหรือใช้สารเสพติด 2. รับสื่ออย่างมีสติ โดยไม่หมกมุ่นเกิน รับเพียง1-2 ครั้ง และร่วมมือปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 3. รักษาสุขภาพ อยู่บ้าน
และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด 4. รีบปรึกษา หากมีความกังวลใจ ให้โทรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่สายด่วนสุขภาพจิต
1323 ฟรีตลอด24 ชั่วโมง และ 5. ระมัดระวัง
ไม่แสดงท่าทีรังเกียจ ไม่ตอกย้ำ ไม่ล้อเลียนผู้ที่เสี่ยงหรือป่วยจากโรคโควิด-19
ในส่วนของประชาชนที่จำเป็นต้องกักตัวเอง
14 วันตามมาตรการของกรมควบคุมโรค
เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ให้ได้ผลโดยเร็ว สามารถดูแลจิตใจไม่ให้เกิดความเครียดด้วยหลัก 5 ต. ดังนี้ 1. ติดต่อกับคนที่เรารัก
หรือคุ้นเคยผ่านทางมือถือหรือโซเชียลมีเดีย
จะช่วยให้เรารู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียวและทำให้เกิดกำลังใจ 2. ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ ไม่หมกมุ่นเกินไป
หากรู้สึกเครียดให้หยุดติดตามและหากิจกรรมอื่นทำ
3. ต่อต้านความเครียด เช่น ออกกำลังกาย
อ่านหนังสือที่ชอบ ฟังเพลง เป็นต้น 4. เติมเต็มความรู้ หาข้อมูลดูแลจิตใจตัวเอง หากเครียด กังวลใจ สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน
หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด24 ชั่วโมง และ 5.
ต้องชมตัวเองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ยอมกักตัวเอง ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโรค
โดยประชาชนสามารถติดตามข้อมูลความรู้ที่เฟซบุ้คของรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์