ม.มหิดล ผลักดันสิทธิคนพิการทำประกันโควิด

พุธ ๐๑ เมษายน ๒๐๒๐ ๐๙:๔๔
"ความพิการไม่ใช่โรค" นอกจากความบกพร่องทางร่างกายบางส่วนแล้ว คนพิการไม่มีอะไรแตกต่างไปจากคนทั่วไป เรามีสิทธิในการดำรงชีวิตเฉกเช่นเดียวกัน

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังถูกคุกคามด้วยภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คนพิการก็เป็นประชากรกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน อาจารย์แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า คนพิการมีอุปสรรคอย่างมากในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการระบาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา รวมทั้งข้อมูลความรู้ และมาตรการในการป้องกันตัวเอง หรือช่วยป้องกันการแพร่ระบาดในสังคม

นอกจากนั้น มาตรการต่างๆ ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง และทำให้มีปัญหาอุปสรรคในการดำรงชีวิตต่อผู้คนในสังคมได้ โดยเฉพาะคนพิการที่มีความจำกัดของความสามารถในการดำรงชีวิตที่แตกต่างจากคนทั่วไป

โดยในกลุ่มคนพิการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว อาจมีความยากลำบากในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน เช่น การล้างมือและการใส่หน้ากากด้วยตนเอง เนื่องจากในบางรายอาจขยับแขน/มือไม่ได้ รวมทั้งยากลำบากที่จะป้องกันอุปกรณ์ช่วยความพิการไม่ให้แปดเปื้อนเชื้อโรค หรือในรายที่ต้องนั่งรถเข็น ก็อาจไม่สามารถเอื้อมถึงเจลล้างมือ หรืออุปกรณ์ป้องกันที่วางไว้ในที่สูงเกินไป และเมื่อจำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นก็ทำให้ยากลำบากต่อการทำตามมาตรการรักษาระยะห่างเพื่อการป้องกันการติดเชื้อ (Social Distancing)

ในส่วนของกลุ่มคนพิการทางการเห็น ก็มีข้อจำกัดในเรื่องมาตรการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากต้องใช้มือสัมผัสช่วยการรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว และที่สำคัญคือ มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างมาก เช่นเดียวกับกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน แต่แตกต่างกันในอุปสรรคที่ทำให้เข้าไม่ถึงข้อมูล โดยคนพิการทางการเห็น จำเป็นต้องได้รับข้อมูล โดยเฉพาะจากสื่อสาธารณะที่มีการบรรยายด้วยเสียง หรือข้อความที่อยู่ในรูปแบบที่มีโปรแกรมช่วยแปลงเป็นเสียงอ่านได้ เช่น word file จึงทำให้คนพิการลักษณะนี้อาจต้องมีอุปกรณ์ช่วยในการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มขึ้น ในขณะที่คนพิการทางการได้ยิน จำเป็นต้องมีล่ามภาษามือช่วยแปล หรือภาพที่มีคำบรรยายประกอบ ทั้งนี้ข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ที่ซับซ้อน อาจจำเป็นต้องผลิตสื่อที่เข้าใจได้ง่าย เช่น คลิปวิดีโอที่นำเสนอข้อมูลเป็นเรื่องราวโดยคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือเอง สื่อแอนิเมชันที่มีล่ามภาษามือ หรือคำบรรยาย (captioning) เป็นต้น

ส่วนกลุ่มคนพิการทางสติปัญญา จิตสังคม ออทิสติก หรือการเรียนรู้ ก็พบข้อจำกัดในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต้องการสื่อที่เข้าใจง่าย และชัดเจนเช่นกัน โดยในบางรายอาจจำเป็นต้องมีผู้ดูแลก็ต้องทำให้เขาเข้าถึงข้อมูลด้วย

ในขณะที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับภัยจากการแพร่ระบาดที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น "ประกันโควิด" จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของผู้คนในช่วงวิกฤต แต่ก็ยังพบข้อจำกัดในสิทธิของผู้ทำประกันที่กรมธรรม์ส่วนใหญ่ไม่ครอบคลุมถึงคนพิการ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ผลักดันจนนักศึกษาและบุคลากรทุกคนรวมถึงคนที่มีความพิการ สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียมกัน

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐนียา โตรักษา หรือ "อาจารย์แอน" ผู้ช่วยคณบดีฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำในการผลักดันให้เกิดสิทธิทำประกันโควิดสำหรับคนพิการของมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีคนพิการที่เป็นทั้งนักศึกษาและบุคลากรรวมจำนวน 72 คน โดยในช่วงการแพร่ระบาด ผู้พิการในมหาวิทยาลัยมหิดลมีความเสี่ยงน้อยมาก เนื่องจากมีการจัดให้นักศึกษาเรียนผ่านระบบทางไกล และให้บุคลากรได้เฝ้าระวังโดยการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home ก่อนเป็นกลุ่มแรกๆ ซึ่งในส่วนของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จำกัดให้มีจำนวนผู้มาทำงานไม่ถึงร้อยละ 20 โดยส่วนใหญ่เป็นฝ่ายบริหารกลางที่ต้องคอยมาประสานงาน และจัดการความเสี่ยง

"ล่าสุดเราได้เจรจากับบริษัทประกันเพื่อให้เข้าใจว่าขณะนี้ทุกคนไม่ว่าพิการ หรือไม่พิการ เรามีความเสี่ยงที่หลากหลายร่วมกัน (pooling risk) จึงไม่ควรมีการคัดแยกผู้พิการออกจากกลุ่มการทำประกันโควิด

โดยเฉพาะคนพิการที่อยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดลมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดี มีศักยภาพในการเรียน และทำงานเหมือนคนทั่วไป ยิ่งมีความเสี่ยงน้อยมากในเรื่องการติดเชื้อ และอุบัติเหตุ

และนี่คือความร่วมมือของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยบริการสนับสนุนสำหรับนักศึกษาพิการ กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (Disability Support Service Mahidol University: DSS Mahidol) และกองทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความเข้าใจและจะไม่ทิ้งคนพิการไว้ข้างหลัง”

"ในภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ เราควรได้ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลที่อยู่ในสังคมเดียวกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ตีตรา แบ่งแยก หรือคัดใครออกเลย ดังนั้นในการออกมาตรการใดๆ เราต้องไม่ลืมที่จะคิดถึงเงื่อนไขที่แตกต่างของคนพิการด้วย และออกแบบมาตรการให้ครอบคลุม เพื่อเขาจะได้รับบริการที่จำเป็นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับคนทั่วไป" คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version