นายขจรจักษรณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในหลายส่วน กยท. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การดูแลยางพาราทั้งระบบ ได้ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หาแนวทางต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางที่ได้รับผลกระทบ แบ่งออกเป็น ผู้ที่กู้ยืมเงินกับ กยท. ผ่านกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุน ส่งเสริม และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการประกอบอาชีพการทำสวนยาง ปรับปรุงคุณภาพการผลิต การแปรรูป การตลาด ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 7 เดือน ตั้งแต่ เดือนมีนาคม 63 – กันยายน 63 และผู้ที่กู้ยืมเงินผ่านกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(5) เงินกู้ยืมเพื่อสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 60 วัน (เมษายน-พฤษภาคม 2563)
นายขจรจักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่เข้าข่ายการช่วยเหลือครั้งนี้ ประกอบด้วย เกษตรกรชาวสวนยาง จำนวนประมาณ 30,000 ราย สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 848 ราย คิดเป็นเงินกู้จากมาตรา 49(3) ประมาณ 505 ล้านบาท และเงินกู้จากมาตรา 49(5) ประมาณ 211 ล้านบาท รวมเป็นเงินมูลหนี้ 716 ล้านบาท โดยพักชำระเงินต้นและงดเก็บดอกเบี้ย เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวสวนยางในภาวะที่มีโรคระบาดไวรัสโคโรน่า 2019