นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งภัยแล้งและเศรษฐกิจตกต่ำ คณะกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้มีมติให้เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานและเกษตรกร โดยการจ้างแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และบัณฑิตว่างงานในพื้นที่ มาร่วมพัฒนาแหล่งน้ำและการเกษตร ควบคู่กับการเรียนรู้และปฏิบัติตามแนวพระราชดำริทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
“ในเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ประชาชนจะเผชิญวิกฤติมากที่สุด สถาบันฯจึงแนวคิดในการช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้มีรายได้และมีกิจกรรมทางการเกษตรทันทีเมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จและที่สำคัญการช่วยเหลือครั้งนี้จะช่วยอย่างยั่งยืน คือผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะมีความรู้ไปใช้พัฒนาอาชีพได้ต่อไปในอนาคต”
โดยปิดทองหลังพระฯ จะนำร่องการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะว่างงานที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19” ใน 3 จังหวัด คือกาฬสินธุ์ ขอนแก่นและอุดรธานี กรอบงบประมาณ 288 ล้านบาท ขณะนี้ได้สำรวจโครงการแล้วเสร็จ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในระยะเร่งด่วนจำนวน 95 โครงการในเดือนเมษายน 2563 เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำทำการเกษตรตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ว่างงานในเบื้องต้นได้ไม่ต่ำกว่า 200 คน
การดำเนินงานในระยะเร่งด่วนแบ่งโครงการเป็น
2 ประเภท
คือโครงการซ่อมแซมและเสริมประสิทธิภาพแหล่งน้ำที่มีต้นทุนน้ำอยู่แล้วและโครงการที่มีระบบน้ำอยู่แล้วสามารถดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องได้ทันที
โดยคัดเลือกจากแหล่งน้ำถ่ายโอนจากกรมชลประทานและหน่วยงานอื่นๆ
ในพื้นที่ที่เสียหายและมีความจำเป็นต้องซ่อมแซมและเสริมศักยภาพ
ขณะนี้อยู่ระหว่าง เตรียมความพร้อมประชาชนในพื้นที่ จัดทำแผนงานและงบประมาณเพื่อเสนอให้คณะกรรมการระดับจังหวัดอนุมัติ โดยปิดทองหลังพระฯ จะสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมและเสริมประสิทธิภาพแหล่งน้ำ การต่อยอดอาชีพ “สำหรับเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งน้ำ คาดว่าจะมีน้ำเพาะปลูกและมีรายได้ภายใน 45 วัน ดังนั้นโครงการฯจะขอความร่วมมือในการสละแรงงานเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำโดยไม่มีค่าจ้างแรงงาน”
นายการัณย์ กล่าว ปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยจังหวัดและอำเภอสำรวจผู้ว่างงาน เพื่อจ้างเป็นอาสาพัฒนาหมู่บ้าน (อสพ.) ทำหน้าที่ซ่อมแซมแหล่งน้ำและพัฒนาการเกษตรร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ และบัณฑิตว่างงานในหมู่บ้าน จะจ้างเป็นพนักงานโครงการ ทำหน้าที่ประสานงานติดตามการดำเนินงานโครงการ ทั้งสองกลุ่มจะได้เรียนรู้และปฏิบัติงานตามแนวพระราชดำริ ซึ่งระหว่างการศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติงานทางสถาบันฯ จะจ่ายค่าแรงงาน ค่าตอบแทนด้วย เป็นระยะเวลา 3 เดือน