ความงงเมื่อถูกวัดอุณหภูมิร่างกาย!

ศุกร์ ๐๓ เมษายน ๒๐๒๐ ๑๓:๓๒
โดย ดร. อธิคม มาน้อย นักมาตรวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานมาตรฐานปฐมภูมิอุณหภูมิ ฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ทำไมเดินเข้าตึกหนึ่ง วัดอุณหภูมิร่างกายของเราได้ค่าหนึ่ง พอเข้าอีกตึกได้อีกค่าหนึ่ง เรียกได้ว่าไม่เท่ากันเลย วันนี้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติจะมาไขข้อสงสัยให้ฟังกัน

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเรื่องอุณหภูมิร่างกายของคนก่อนว่า อุณหภูมิร่างกายของเราสามารถวัดได้จากตำแหน่งต่างๆของร่างกาย (measuring site) เช่น ในช่องปาก ในช่องหู ทวารหนัก รักแร้ กระเพาะอาหาร หรือ หลอดเลือด Pulmonary เป็นต้น (อย่างหลังๆ มักวัดขณะทำการผ่าตัด) โดยอุณหภูมิที่วัดได้นี้ในแต่ละตำแหน่งก็จะมีค่าไม่เท่ากัน ฉะนั้นเมื่อจะเปรียบเทียบอุณหภูมิแล้วต้องบอกด้วยว่าเป็นอุณหภูมิร่างกายที่วัดจากตำแหน่งไหน และอุณหภูมิร่างกายแม้วัดจากตำแหน่งเดียวกัน ในแต่ละคนก็อาจไม่เท่ากันอีกด้วย เพราะอุณหภูมิร่างกายยังขึ้นอยู่กับ อายุ น้ำหนัก ความสามารถในการเผาผลาญพลังงาน กิจกรรมที่ทำ เวลาในการวัดอุณหภูมิ (อุณหภูมิร่างกายขณะหลับจะมีอุณหภูมิต่ำ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามกิจกรรมที่ทำ ในช่วงกลางวันจะมีอุณหภูมืสูงสุดและเริ่มลดลงเมื่อเข้าช่วงเวลาพักผ่อน นอนหลับ) ดังนั้น ถึงแม้วัดอุณหภูมิจากตำแหน่งเดียวกัน และจากคนเดียวกัน ก็ไม่แปลกที่จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย อุณหภูมิร่างกายที่เสถียรคือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยได้แก่อุณหภูมิที่วัดจากแกนกลางของร่างกาย เช่น การวัดจากกระเพาะอาหารหรือหลอดเลือด เรียกว่า อุณหภูมิแกนกลางร่างกาย(core body temperature)

อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือการนำเครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผาก (Forehead thermometer) และกล้องถ่ายภาพความร้อน (Thermal camera) มาใช้ทำการวัดอุณหภูมิร่างกาย ทำให้คนทั่วไปที่อาจไม่คุ้นเคยและขาดความเข้าใจในการใช้งานและแปลความ อาจมีความเข้าใจผิดต่อการวัด อย่างที่เคยบอกก่อนหน้านี้ว่าเครื่องวัดอุณหภูมิทางการแพทย์มีโหมดการใช้งานสองโหมด คือ

โหมดการวัดตรง (Direct mode) ที่แสดงค่าผลการวัดอุณหภูมิโดยตรง (ไม่มีการปรับแก้ค่า หรือ correction) หรือพูดง่ายๆว่า เซนเซอร์วัดอุณหภูมิวัดได้เท่าไหร่ก็แสดงค่าเท่านั้น โหมดการปรับแก้ (adjusted mode) คือโหมดที่แสดงค่าอุณหภูมิโดยมีการปรับแก้ค่าอุณหภูมิจากโหมดการวัดตรงด้วยค่าแก้ค่าหนึ่ง ซึ่งค่าแก้นี้ได้จากการทดสอบทางคลินิก (Clinical test) ตามวัตถุประสงค์แต่ละเครื่องมือ

ซึ่งอาจจะยังงง ว่าหมายถึงอะไร ขอยกตัวอย่าง เครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผากยี่ห้อหนึ่งที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น หากศึกษาคู่มือดีๆ ก็จะบอกว่าเครื่องมีสองโหมด คือ โหมดวัดอุณหภูมิพื้นผิว (surface temperature) ซึ่งก็คือ โหมดการวัดตรง ใช้ในการวัดอุณหภูมิพื้นผิวของวัตถุใดๆก็ตาม และโหมดวัดอุณหภูมิร่างกาย (Body temperature) ซึ่งคู่มือยังระบุอีกว่าเป็นการแสดงค่าอุณหภูมิร่างกาย ณ ตำแหน่งช่องปาก ซึ่งเครื่องจะแสดงค่าเช่นนี้ได้เพราะบริษัทผู้ผลิตได้ทำ clinical test ด้วยการวัดอุณหภูมิเปรียบเทียบระหว่างอุณหภูมิหน้าผากและอุณหภูมิในช่องปากจากจำนวนประชากรที่มากพอตามที่มาตรฐานกำหนดก่อน ว่ามีค่าเฉลี่ยเท่าไหร่ แล้วจึงเขียนฟังก์ชั่นปรับแก้ค่านี้ให้กับเครื่องวัดอุณหภูมิผิวหนังที่ผลิตขึ้น ซึ่งโหมดนี้ก็จะเป็นโหมดการปรับแก้ตามที่กล่าวข้างต้น ตัวอย่างของผลการทดสอบทางคลินิก ณ อุณหภูมิสภาวะแวดล้อม 23 ?C ของเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายยี่ห้อนี้โดยประมาณ ได้แก่

อุณหภูมิหน้าผาก (?C)

33.5 34.5 35.0 35.5

อุณหภูมิในช่องปาก (?C)

36.536.837.337.8

ดังนั้น เมื่อใช้เครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผากนี้ทำการวัดอุณหภูมิหน้าผาก (อุณหภูมิแวดล้อม 23 ?C) ในโหมด surface ได้ค่าอุณหภูมิ 34.5 ?C ก็ไม่ต้องตกใจว่าตัวเองมีอุณหภูมิต่ำกว่าปกติ (37 ?C) เพราะอุณหภูมิร่างกาย(ในช่องปาก)จริงๆ คือ 36.8 ?C ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเพื่อป้องกันความสับสน ผู้ใช้งานควรเลือกใช้งานโหมดการวัดให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการวัด

ปัญหาเช่นเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นในการวัดอุณหภูมิหน้าผากด้วยกล้องถ่ายภาพความร้อน ซึ่งโดยทั่วไปกล้องถ่ายภาพความร้อนจะไม่มีโหมดปรับแก้ หรือพูดง่ายๆว่า กล้องถ่ายภาพความร้อนโดยทั่วไปไม่สามารถแสดงค่าอุณหภูมิร่างกายได้ ดังนั้นเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาว่าคนไหนมีไข้หรือไม่ จะไม่ใช่ 37.5 ?C อย่างกรณีการวัดด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิทางการแพทย์อื่น (อันนี้ก็ไม่ทราบเช่นกันว่า ตามจุดคัดกรองต่างๆใช้เกณฑ์ใดเพราะไม่มีประกาศเหมือนเกณฑ์ 37.5 ?C)

ฉะนั้นหวังว่าเมื่ออ่านจบ ท่านจะแยกได้ว่าเมื่อวัดอุณหภูมิของตัวเองมาแล้ว จะประเมินว่าตนเองมีไข้หรือไม่อย่างไร หรือสามารถใช้เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายได้ถูกต้องมากขึ้น

หมายเหตุ : การอุณหภูมิผิวหนังหรืออุณหภูมิหน้าผากไม่ถือเป็นอุณหภูมิร่างกาย (ISO 80601-2-56)

สามารถชมคลิปเรื่องการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายได้ที่ https://www.facebook.com/259082827464427/posts/2932577686781581?d=n&sfns=mo

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม