นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงเวลานี้ซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกพืชของเกษตรกรเป็นช่วงที่สารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร จะได้รับการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการหลอกขายปุ๋ยและสารเคมีปลอมมากกว่าในช่วงเวลาอื่นๆ เนื่องจากเป็นช่วงที่เกษตรกรมีความต้องการใช้ทั้งปุ๋ยและสารเคมีป้องกัน กำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช จึงทำให้มีผู้ฉวยโอกาสผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตปลอมและไม่ได้มาตรฐานมาหลอกขายเกษตรกร
โดยที่ผ่านมาพบว่าแหล่งที่เกษตรกรจะได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพดังกล่าวส่วนใหญ่จะมาจากรถเร่ซึ่งตระเวนขายไปตามหมู่บ้าน โดยมีการติดต่อและขายให้เกษตรกรโดยตรงใช้กลยุทธ์ลดราคาให้ของแจกของแถม เช่น โทรทัศน์ พัดลม หม้อหุงข้าว เตารีด และโทรศัพท์มือถือ เพื่อดึงดูดใจหากซื้อในปริมาณตามที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันยังมีการขายผ่านตัวแทนในหมู่บ้าน หากมีเกษตรกรสนใจสินค้าจะจดรายชื่อไว้โดยเรียกเก็บค่ามัดจำล่วงหน้า จำนวนหนึ่งแล้วค่อยนัดส่งสินค้าภายหลัง จึงได้สั่งการให้สารวัตรเกษตรเครือข่ายในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตร เฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่มักพบเกิดปัญหาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงระยะเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้จะได้รับการแจ้งเบาะแสรถเร่ขายปัจจัยการผลิตปลอมน้อยลง เนื่องจากได้มีการประสานงานทำงานกันเป็นทีมระหว่างสารวัตรเกษตรอาสา ซึ่งเป็นผู้นำชุมชน ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งปัจจุบันมีกระจายอยู่ตามหมู่บ้านทุกจังหวัดจำนวนเกือบ 7,000 คน กับสารวัตรเกษตรเครือข่ายในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตร โดยร่วมกันสอดส่องและดำเนินการอย่างเข้มงวดมากขึ้นกับผู้ที่มีพฤติกรรม น่าสงสัยนำรถเข้าไปเร่ขายปัจจัยการผลิตปลอมตามหมู่บ้าน แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ว่าขบวนดังกล่าวจะหมดสิ้นไป ดังนั้นจึงขอเตือนเกษตรกรอย่าได้หลงเชื่อและขอให้ใช้ความรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อปัจจัยการผลิตทุกชนิดดังกล่าว
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การเลือกซื้อสารเคมีทางการเกษตรต้องซื้อสินค้าที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจากกรมวิชาการเกษตร อ่านฉลาก ดูชื่อสามัญ ตรวจดูวันที่ผลิตต้องมีอายุไม่เกิน 2 ปี สภาพภาชนะบรรจุไม่เก่า ไม่เสื่อม ภาชนะบรรจุไม่รั่วไหล ไม่แบ่งขายหรือถ่ายลงภาชนะอื่น ไม่ซื้อสินค้าที่อ้างว่าเป็นสูตรพิเศษ หรือราคาถูก ส่วนการเลือกซื้อปุ๋ย ภาชนะหรือกระสอบปุ๋ยต้องใหม่ ไม่มีรอยฉีกขาดหรือเย็บใหม่ และควรซื้อจากผู้ขายที่มีใบอนุญาตขายปุ๋ยเท่านั้น ไม่ควรซื้อปุ๋ยจากพ่อค้าเร่ โดยขอเอกสารกำกับปุ๋ยและใบเสร็จรับเงินจากผู้ขายทุกครั้ง ฉลากปุ๋ยต้องจัดเจน และมีรายละเอียดของปุ๋ยแต่ละประเภทถูกต้องครบถ้วน อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจควรเลือกซื้อสินค้าจากร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพที่ได้รับเครื่องหมาย Q shop
“กรมวิชาการเกษตรให้ความสำคัญกับการดูแลเกษตรกรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากผู้ที่มีเจตนาจะเอาเปรียบหลอกขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงได้เพิ่มหมายเลขโทรศัพท์ให้เกษตรกรหรือผู้ที่ทราบเบาะแสสามารถแจ้งได้ทันทีหากพบรถเร่ขายที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย หรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการผลิตหรือจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ โดยสามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับแจ้งเบาะแสปัจจัยการผลิตปลอม ไม่ได้มาตรฐาน กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์.0-2940-5434 และ 086 321 0018” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว