การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19
นำไปสู่การหาที่มาที่เชื่อมโยงระหว่างการส่งผ่านเชื้อโรคจากสัตว์ไปสู่มนุษย์ และตลาดซื้อขายสัตว์ป่าเป็นเป้าหมายหลักที่ถูกกล่าวถึงในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา
WWF หรือองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล จึงร่วมกับบริษัทวิจัยระดับโลก
GlobeScan จัดทำการสำรวจความคิดเห็นในเดือนมีนาคม
2563 ในกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่ใน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ไทย
และเวียดนาม (Opinion Survey on COVID-19 and
Wildlife Trade in 5 Asian Markets) โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5,000 คน จากการสำรวจในภาพรวมพบว่า ร้อยละ 82 ของผู้ตอบแบบสอบถามแสดงความวิตกกังวลเป็นอย่างมากกับการแพร่ระบาดของไวรัส
ในขณะที่ร้อยละ 93 ระบุว่าเต็มใจให้การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลของแต่ละประเทศอย่างเต็มที่หากจะปิดตลาดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยร้อยละ 86 แสดงความวิตกกังวลเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังคงเป็นปัญหาหลักของประเทศในปัจจุบัน ร้อยละ 90 ยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่กับภาครัฐ ในการปิดตลาดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ในขณะเดียวกัน ร้อยละ 79 เชื่อว่าการปิดตลาดจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอีกในอนาคต นอกจากนั้น ร้อยละ 80 แสดงความวิตกกังวลว่าหากไม่มีมาตรการที่เคร่งครัดในการจัดการและมีการปิดตลาด โรคระบาดก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก
“ประเทศไทยเป็นพื้นที่แห่งความอุดมสมบูณ์ แต่ความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ป่าไทยกำลังถูกคุกคามจากขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาทาง WWF ได้ทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการดำเนินภารกิจเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสนับสนุนการหาแนวทางป้องปราม ขบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่เป็น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดโรคระบาดจากสัตว์ไปสู่คนอีกในอนาคต” พิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ประเทศไทยกล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มสำรวจชาวไทยร้อยละ 15 ระบุว่าในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาเคยมีบุคคลใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับการซื้อขายสัตว์ป่า ในขณะที่อีกร้อยละ 85 กล่าวว่าไม่มีความสนใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าในอนาคต
เจษฎา ทวีกาญจน์ ผู้จัดการโครงการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย WWF ประเทศไทยระบุว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศเป้าหมายของกลุ่มผู้บริโภคสัตว์ป่า ผู้นิยมการเลี้ยงสัตว์แปลกและผู้ล่าสัตว์ โดยตลาดในประเทศไทยมีทั้งตลาดใหญ่กลางเมือง ตลาดการค้าตามจุดผ่อนปรนระหว่างชายแดน และตลาดออนไลน์ “พื้นที่เหล่านี้อาศัยช่องว่างทางกฎหมายในการค้าขาย แต่ทั้งนี้การขายจะเกิดขึ้นไมได้ถ้าไม่มีความต้องการจากทางฝั่งผู้บริโภคเอง
การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้เห็นความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องทำงานอย่างจริงจัง และให้ความสำคัญกับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ นั่นคือความเสี่ยงที่จะมีต่อสุขภาพ และการสาธารณสุข ผลสำรวจจาก GlobeScan ตอกย้ำให้เราต้องรีบลงมือ เพราะหากผู้บริโภคให้ความสนใจและตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น พวกเขาก็จะเปลี่ยนพฤติกรรม”
หลังจากที่รัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ออกกฎหมายห้ามการบริโภคสัตว์ป่าเป็นการชั่วคราว
นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้วนั้น ผลจากการวิจัยของ
WWF
พบว่าประชาชนจากทั่วทั้งภูมิภาคต่างให้การสนับสนุนนโยบายดังกล่าว
“รัฐบาลของประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้เองก็ควรที่จะต้องดำเนินการปิดตลาดการค้าสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยง
และยุติการค้าสัตว์ป่าเพื่อเป็นปราการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ที่สร้างแรงกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ
และสังคมไปทั่วโลกเช่นนี้เกิดขึ้นมาอีกในอนาคต” คริสตี วิลเลี่ยม ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจาก WWF
กล่าว
องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์ ระบุว่าเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นการระบาดใหญ่ ซึ่งการติดเชื้อในมนุษย์กว่า 61% มาจากสัตว์
และการค้าสัตว์ป่าเป็นที่มาของการแพร่กระจายและการติดเชื้อสู่มนุษย์ โดยเป็นลักษณะเดียวกับเชื้อโรคที่เคยมีการแพร่ระบาดในอดีต
อาทิ โรคซาร์ส โรคเมอร์ส และอีโบล่า
“ชาวเอเชียซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศที่เป็นตลาดการค้าสัตว์ป่า
และยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการบริโภคสัตว์ป่าต่างตระหนักว่า
ตลาดการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายจะต้องยุติ” มาร์โค แลมเบอตินี่ ผู้อำนวยการทั่วไป WWF International กล่าว พร้อมกับบอกว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเชื่อมโยงภาพของการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายและการลดทอนความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งแวดล้อม
รวมถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพของมนุษย์ ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน ที่จะส่งผลต่อการอยู่รอดของเราในอนาคต”
งานวิจัยเพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 5 ประเทศเอเชียต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และตลาดการซื้อขายสัตว์ป่า
จัดทำขึ้นโดยบริษัทวิจัย GlobeScan โดยการสนับสนุนของ WWF ระหว่างวันที่ 3-11 มีนาคม 2563 โดยมีกลุ่มตัวอย่างประเทศละ 1000 คนจาก ฮ่องกง
ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ไทย และ เวียดนาม รวมทั้งสิ้น 5000
กลุ่มตัวอย่างซึ่งใช้วิธีตอบแบบสอบถามออนไลน์
โดยคำถามเน้นในประเด็นความเห็นที่มีต่อการแพร่กระจายและการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่
และความคิดเห็นที่มีต่อการค้า และการบริโภคสัตว์ป่าในแต่ละประเทศ
ทั้งนี้ในประเทศกลุ่มสำรวจทั้งหมด ยกเว้นญี่ปุ่น ร้อยละ 90 ระบุว่าต้องการสนับสนุนให้รัฐบาล
และหน่วยงานสาธารณสุขปิดตลาดการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในประเทศของตน
หรือ WWF สำนักงานประเทศไทย ในฐานะองค์กรวิทยาศาสตร์
ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ
และ WWF ถือเป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลกที่มุ่งมั่นทำงานด้าน
การอนุรักษ์ ปัจจุบัน WWF มีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วโลกและเครือข่ายขององค์กรทำงานร่วมกันในกว่า
100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมชาติของโลกในเชิงลบ
และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของโลก
ที่มีมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างมีความสมดุลด้วยการอนุรักษ์สภาพชีววิทยาที่หลากหลาย
และมุ่งทำงานเพื่อรักษา ทรัพยากรด้านพลังงานให้ถูกนำกลับมาใช้งานอย่างสมดุล และยั่งยืน
รวมทั้งสนับสนุนการทำงานเพื่อหยุดยั้งมลพิษและการบริโภค ที่เกินพอดี
สามารถศึกษาข้อมูลการทำงานของเราเพิ่มเติมได้ที่ www.wwf.or.th