มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3

พุธ ๐๘ เมษายน ๒๐๒๐ ๑๐:๓๙
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้เร่งออกมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งโดยการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ ลดต้นทุนการระดมทุน รวมถึงการเยียวยาภาคประชาชน อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงกระทบไปทั่วโลกและเป็นการแพร่ระบาดที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 100 ปี ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนภายในประเทศได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลง และเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลง การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในประเทศ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

กระทรวงการคลังรับผิดชอบการดูแลเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เล็งเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที กระทรวงการคลังจึงได้พิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาวิกฤติของประเทศโดยอยู่ในระหว่างดำเนินการอย่างครบถ้วนแล้ว ซึ่งมีข้อจำกัดและเงื่อนเวลาของการงบประมาณ โดยงบกลางของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และเงินทุนสำรองจ่ายตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ต้องสำรองไว้เพื่อใช้จ่ายในเหตุฉุกเฉินอื่นที่อาจจะเกิดขึ้น และวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เหลืออยู่อย่างจำกัด นอกจากนี้การโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ภายในปีงบประมาณ 2563 มาใช้เพิ่มเติม และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมถึงการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 จะใช้เวลานานซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ โดยการกู้เงินด้วยวิธีการออกพระราชกำหนดเป็นการเฉพาะ

กระทรวงการคลังจึงเสนอมาตรการเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ต่อระบบเศรษฐกิจ ป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงเข้าขั้นวิกฤติจนต้องสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการเงินที่มากเกินจำเป็นอันจะเป็นภาระให้กับประเทศในอนาคต และวางรากฐานเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายดีขึ้น โดยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. กู้เงินฯ) รัฐบาลมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและควบคุม การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ แต่ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนเวลาการงบประมาณ รัฐบาลจำเป็นต้องตราร่าง พ.ร.ก. กู้เงินฯ โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1,000,000 ล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยสามารถแบ่งกรอบการใช้เงินได้ดังนี้

1.1 ชุดมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดจาก COVID-19 วงเงิน 600,000 ล้านบาท โดยครอบคลุมการช่วยเหลือและเยียวยาให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 การแพทย์และสาธารณสุข

1.2 ชุดมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยครอบคลุม 1) การเพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ตลาดจนการส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ในระดับ ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งการสร้างช่องทางทางการตลาด และยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (Local Economy) 3) การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน รวมทั้งการส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชนที่จะทำให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติ

2.มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงิน รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันวางแนวทางเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน ในสภาวการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็น ผู้จ้างแรงงานร้อยละ 80 ของประเทศ ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงอาจส่งผลให้มีการเลิกจ้างงานและผิดนัดชำระหนี้ ในขณะเดียวกันความผันผวนในตลาดการเงินอาจทำให้บริษัทที่มีคุณภาพ ไม่สามารถไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ จนกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและลดประสิทธิภาพในการระดมทุน รัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs พร้อมกับการเสริมสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยการตราร่างพระราชกำหนด 2 ฉบับ ดังนี้

2.1 ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. soft loan 500,000 ล้านบาท) สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยร่าง พ.ร.ก. soft loan 500,000 ล้านบาท กำหนดให้ ธปท. สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มียอดสินเชื่อคงค้างเดิมไม่เกิน 500 ล้านบาท ที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับสินเชื่อเพิ่มเติมไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดสินเชื่อเดิม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ได้เพิ่มเติมในระยะ 6 เดือนแรก นอกจากนี้ยังมีโครงการให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถพักชำระหนี้เดิมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ SMEs เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท

2.2 ร่างพระราชกำหนดการสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. BSF) สำหรับเพิ่มสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงิน โดยร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF)และให้ ธปท. สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ในตลาดแรกให้ทำงานได้เป็นปกติ (Market functioning) โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว (Temporary liquidity shortage) จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้บริษัทสามารถ rollover หุ้นกู้ต่อไปได้ ทั้งนี้ ธปท. สามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวได้ไม่เกิน 400,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังให้อำนาจ ธปท. ในการซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดรองในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงิน

3.มาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ประกอบด้วย 3 มาตรการ ดังนี้

3.1 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. …เพื่อให้ขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 5 ล้านบาทไปถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงิน ซึ่งจะเพิ่มความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินในภาพรวม

3.2 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-banks) เพื่อให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้แก่ Non-Banks เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของแต่ละบริษัทโดยการผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ลิสซิ่ง เช่าซื้อ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อทะเบียนรถให้แก่ประชาชน

3.3 การปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว ทราบการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินจากอัตราร้อยละ 0.46 ต่อปี เหลือร้อยละ 0.23 ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินมีต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ของภาคธุรกิจและประชาชน

กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 จะเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ให้เดินต่อไปได้และมาตรการดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญ ให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงเมื่อวิกฤติครั้งนี้ผ่านพ้นไป กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อ 1. โทร 0 2265 8050 ต่อ 5516ข้อ 2. โทร 0 2283 5401ข้อ 3.1 โทร 0 2273 9020 ต่อ 3691ข้อ 3.2 โทร 0 2273 9020 ต่อ 3219ข้อ 3.3 โทร 0 2356 7100

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕:๕๕ ราช กรุ๊ป - เอไอเอฟ กรุ๊ป - โรนิตรอน จับมือศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน - กรีนแอมโมเนีย จากพลังงานสะอาดใน
๑๕:๔๖ กลุ่มธนชาต เครือเอ็ม บี เค และบริษัทพันธมิตร ร่วมสนับสนุนเงินแก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ 10.44 ล้านบาท เพื่อสมทบทุนโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี
๑๕:๑๔ CFARM ร่วมงาน Opp day Q3/2567 ย้ำรายได้ปี 67 ใกล้เคียงเป้า
๑๕:๔๘ ไปรษณีย์ไทย แบ่งปันประสบการณ์ ESG หนุนประเทศไทยทำธุรกิจให้ยั่งยืน
๑๔:๓๙ สทบ.จับมือ กรมปศุสัตว์และธกส. ชวนเกษตรกรไทย ร่วมงาน มหกรรม โคแสนล้าน ระหว่างวันที่ 23-24 พ.ย.67 จ.มหาสารคาม
๑๔:๐๘ อพท. จับมือภาคีระดับนานาชาติเผยแพร่ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวยั่งยืนของไทย ในงาน PATA Destination Marketing Forum
๑๔:๔๓ ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ มุ่งลดฝุ่นพิษเพื่อทุกคน
๑๔:๔๔ 'RSV' โรคที่ผู้ใหญ่ก็เป็นได้
๑๔:๒๖ MOSHI ฉลองครบรอบ 8 ปี สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน อัดแคมเปญพิเศษ 'แจกใหญ่ แทนคำขอบคุณ' เดินหน้าขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ มอบความสุขด้วยการสรรค์สร้าง
๑๔:๐๓ ชวนอร่อยสุดฟิน ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุข Gourmet Foodie Fest 2024 Enchanted Garden จัดเต็ม 40 ร้านดัง จากศิษย์เก่า เลอ กอร์ดอง เบลอ