รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) มีการขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ประกอบกับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ได้ง่าย และเริ่มมีแนวโน้มการติดเชื้อของบุคคลในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลประเพณีสงกรานต์ ดังนั้น วธ.จึงไม่นิ่งนอนใจกับข้อห่วงใยดังกล่าว จึงได้ปรับปรุงแก้ไขแนวทาง การปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ ที่ได้ประกาศก่อนหน้า โดยเห็นสมควรยกเลิกข้อ ๒.๓.๕ เทศกาลประเพณีสงกรานต์ ตามประกาศกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ฉบับวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๓ โดยให้ใช้แนวทางปฏิบัติที่มีการปรับปรุงฉบับใหม่ ดังนี้
๑. งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ ๒. งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา ๓. งดเว้นการรดน้ำญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี ๔. งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด ๕. เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ให้ปฏิบัติ ดังนี้ ๕.๑ สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน ๕.๒ การแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ใช้วิธีการกราบไหว้และขอพร โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ๑ - ๒ เมตร และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้สมาชิกในครอบครัวทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และ ๕.๓ การแสดงความกตัญญูและขอพรต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ห่างไกลกัน ให้แสดงออกผ่านช่องทางโทรศัพท์หรือสื่อออนไลน์
ทั้งนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวของ วธ.มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วงเดือนเมษายนเป็นช่วงเทศกาลประเพณีสงกรานต์ และแม้ว่าจะมีการประกาศเลื่อนวันหยุดสงกรานต์และงดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับแล้ว ก็อยากขอให้ทุกคนปฏิบัติตามประกาศของ วธ. และประกาศของ สธ. อย่างเคร่งครัด