คมนาคม -7สมาคมเหล็กจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ดันใช้สินค้าเหล็กในประเทศสนองนโยบายThai First

พุธ ๐๘ เมษายน ๒๐๒๐ ๑๕:๓๐
ตามที่กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กกว่า 470 บริษัท เดินทางเข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 เพื่อสนับสนุนนโยบาย “Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” และสนับสนุนการผลักดันให้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมร่วมกับกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้สินค้าเหล็กในประเทศของกระทรวงคมนาคม

กระทรวงคมนาคมโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จึงได้ร่วมกับกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ จัดกิจกรรม workshop เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม 2563 โดยมีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในการจัดงาน ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางราง กรมเจ้าท่า กรมทางหลวง กรมท่าอากาศยาน การท่าเรือแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายต่างๆของรัฐบาล เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กรมทางหลวงชนบท และ บมจ. ท่าอากาศยานไทย

โดยภายในงาน นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย รายงานภาพรวมของสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กโลก และของไทย โดยปี 2562 ประเทศไทยมีการใช้สินค้าเหล็ก 18.47 ล้านตัน และส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 58 ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่จะพบว่าสินค้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศกว่า 12 ล้านตัน คิดเป็นกว่าร้อยละ 66 ของการใช้ในประเทศ และคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.2 แสนล้านบาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศมีการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำมากเพียงร้อยละ 32 เท่านั้น ในขณะที่หลายประเทศใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 50 ทั้งสิ้น เช่น เวียดนามใช้กำลังการผลิตที่ร้อยละ 69 ออสเตรเลียร้อยละ 58 เกาหลีใต้ร้อยละ 53 และไต้หวันร้อยละ 75 ดังนั้นการสนับสนุนการใช้สินค้าในประเทศจึงเป็นกลไกที่สำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น และพัฒนาอุตสาหกรรรมเหล็กซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆต่อไป

ด้านรศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการศึกษาผลกระทบจากการใช้สินค้าในประเทศโดยการใช้เครื่องมือตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต หรือ Input-Output Table (I-O Table) ซึ่งเป็นตารางที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตและ การใช้ผลผลิต ทั้งที่ใช้ไปในขั้นสุดท้าย และที่ใช้ไปเพื่อการอุปโภคขั้นกลาง สำหรับข้อมูลโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม 44 โครงการ โดยได้มีการประเมินจากผู้ผลิตสินค้าเหล็กในประเทศว่าสามารถใช้สินค้าเหล็กในประเทศได้เป็นมูลค่าถึงประมาณ 110,000 ล้านบาท และจากมูลค่าดังกล่าวเมื่อนำไปวิเคราะห์โดย I-O table พบว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรง และทางอ้อมกว่า 139,000 คน และช่วยให้ GDP ของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 แต่ทั้งนี้การวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์ในเบื้องต้น อาจจะต้องมีการปรับข้อมูลในการวิเคราะห์ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการใช้สินค้าในประเทศช่วยส่งเสริมการจ้างงาน และ GDP ของประเทศอย่างแน่นอน

นายวิน วิริยประไพกิจ ผู้แทนกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ กล่าวขอบคุณประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมงาน พร้อมทั้งชี้แจงว่าอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่ทางภาครัฐได้มีการส่งเสริมการลงทุนแต่ยังขาดนโยบายอื่นๆ เช่น ทางด้านต้นทุน ด้านการตลาด ด้านพลังงานและด้านเทคโนโลยี เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานของภาครัฐที่ดูแลกำกับโดยตรง อีกทั้งได้กล่าวถึงปัญหาวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กโดยปัญหาเกิดขึ้นจากการที่ประเทศจีนมีการผลิตสินค้าที่มากเกินความจำเป็นของโลก และมีการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมทั้งเรื่องการอุดหนุน และทุ่มตลาด ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวประเทศต่างๆทั่วโลกได้มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ โดยเฉพาะ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้สินค้าที่ไม่สามารถไปยังประเทศที่กำหนดมาตรการที่แข็งแรงได้ก็มีโอกาสเข้ามายังประเทศไทยได้ซึ่งแสดงให้เห็นจากตัวเลขของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศลดลงร้อยละ 4 ซึ่งส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2562 เหลือเพียงร้อยละ 32 เท่านั้น

“ในช่วงเดือน พฤศจิกายน ปี 2558 ได้รายงานปัญหา และนำเสนอแนวทางแก้ไขต่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยรองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงการคลังร่วมกับกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีเสมอมา และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่นกัน”

ผู้แทนสมาคมที่เป็นสมาชิกกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯกล่าวอีกว่าได้นำเสนอข้อมูลถึงความสามารถในการผลิตสินค้าเหล็กที่สามารถผลิต และจำหน่ายได้ โดยสินค้าเหล็กส่วนใหญ่ที่ใช้ในโครงการก่อสร้างภาครัฐผู้ประกอบการสามารถผลิตได้ทั้งสิ้น ยกเว้นสินค้าบางรายการ เช่น รางรถไฟ อีกทั้งได้นำเสนอแนวทางการกำหนด

นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย และผู้ประสานงานกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ รายงานถึงตัวอย่างการกำหนดนโยบายสนับสนุนการใช้สินค้าเหล็กในประเทศของสหรัฐอเมริกา และอินเดีย โดยทั้ง 2 ประเทศกำหนดนโยบาย Buy American และ Make in India ตามลำดับ โดยสาระสำคัญคือ Buy America มีการกำหนด Local content โครงการภาครัฐสำหรับสินค้าเหล็กที่ร้อยละ 95 ส่วน Make in India มีการกำหนด Local content โครงการภาครัฐในภาพรวมที่ร้อยละ 50 โดยต้องมี Certificate รับรองด้วย และสำหรับการใช้สินค้าเหล็กต้องมีมูลค่าเพิ่มในประเทศร้อยละ 20

พร้อมกันนี้นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ได้นำเสนอนโยบายสนับสนุนการใช้สินค้าเหล็กในประเทศโดยขอให้ (1) ขอความอนุเคราะห์ให้ยึดถือปฏิบัติตาม มติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 เรื่องหลักเกณฑ์การใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศ อย่างเคร่งครัด และขอให้พิจารณากำหนด Local content การใช้สินค้าเหล็กในประเทศสำหรับโครงการภาครัฐที่ร้อยละ 90 (2) ขอความอนุเคราะห์นำแนวปฏิบัติการให้แต้มต่อด้านราคากับพัสดุที่ผลิตในประเทศและเป็นกิจการของคนไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2553 กลับมาพิจารณาบังคับใช้อีกครั้ง โดยขอให้ครอบคลุมเรื่องงานก่อสร้างด้วย

“การกำหนด Local content ของประเทศไทยสามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดต่อความตกลง WTO เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลง Government Procurement Agreement (GPA) ประเทศไทยเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น”นายนาวากล่าว

นายชาตรี บุญญารัตนากุล ผู้แทนจากสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทยชี้แจงเพิ่มเติมต่อความกังวลกรณีการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกเขตการค้าเสรี CPTPP ว่าในการเจรจาสามารถกำหนดข้อยกเว้นสำหรับเรื่อง GPA ได้ จากตัวอย่างประเทศเวียดนามที่มีการลงนามเข้าร่วมแล้วและมีการระบุยกเว้นไม่ครอบคลุมเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกระทรวงคมนาคม ดังนั้นสำหรับประเทศไทยหากเข้าร่วม CPTPP ก็ควรกำหนดการยกเว้นเช่นเดียวกัน อีกทั้งระยะเวลาการเปิดเสรีก็ใช้เวลานานถึง 25 ปี ดังนั้นในระหว่างนี้จึงควรมีการกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ

ทางด้านผู้แทนจากกรมบัญชีกลางได้ชี้แจงว่ากำลังศึกษา และทบทวนการจัดทำกฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และไม่ให้ขัดต่อ WTO เพื่อนำเสนอ ค.ร.ม. ทั้งนี้ทาง สนข. จะจัดทำสรุปข้อมูลจากการหารือในWorkshop และนำเสนอผู้บริหารกระทรวงคมนาคมพิจารณา รวมถึงประสานอย่างเป็นทางการไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับจัดทำ มติ ค.ร.ม. ใหม่ให้มีความชัดเจน และมีประสิทธิภาพในการนำไปปฏิบัติมากยิ่งขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๐๖ ซีอีโอธุรกิจธนาคารเดิมพันกับเทคโนโลยีเกิดใหม่แม้มีช่องว่างทางทักษะ
๐๙:๕๘ เครียดจริงหรือแค่คิดไปเอง? เช็คระดับความเครียดของคุณใน 5 นาที
๐๙:๔๔ อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จัดงาน Agency Kick off 2025 รวมพลังฝ่ายขาย มุ่งสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน
๐๙:๐๑ ซัมซุง ปล่อยทีเซอร์เล่นใหญ่รับต้นปี เตรียมพบ Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่
๐๙:๔๔ ซัมซุง ดึง แม่ชม พร้อมด้วย พี่จอง-คัลแลน ปล่อยทีเซอร์เล่นใหญ่รับต้นปี เตรียมพบ Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่
๐๙:๐๔ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขยายพื้นที่ บรรเทาทุกข์ มอบไออุ่น แก่ผู้ประสบภัยหนาวในถิ่นทุรกันดารพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และชัยนาท รวมมูลค่ากว่า 8
๐๙:๔๐ ร่วมสำรวจอนาคตธุรกิจโลจิสติกส์ไทยในงานสัมมนาออนไลน์ฟรี!
๐๙:๔๘ ปีใหม่จะไม่โสด! Tinder เผยอาทิตย์แรกเดือน ม.ค. ปัดขวาคึกคักที่สุด
๐๙:๒๓ MPJ แย้มข่าวดีรับปีใหม่ รุกขยายลานตู้ที่ศรีราชาครั้งใหญ่ คาดเพิ่มรายได้ลานตู้ 52%
๐๙:๓๙ COVERMARK จัด Precious Bright Promotion ต้อนรับลูกค้าใหม่