เสริมภูมิคุ้มกันธุรกิจ ต้าน โควิด-19 ด้วยไอที

จันทร์ ๑๓ เมษายน ๒๐๒๐ ๑๕:๒๑
นายสุภัค ลายเลิศ

กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ

บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

ไม่มีใครคาดคิดว่า ไวรัสโควิด-19 จะสร้างพลังทำลายล้างและสร้างภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก

จากการเปิดเผยของไอดีซี ชี้ว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงสุดเป็นอันดับแรกจากการระบาดของโควิด-19 ได้แก่ ธุรกิจการขนส่งและภาคบริการซึ่งเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะที่เว็บไซต์ บลูมเบิร์ก ได้รายงานตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ที่สูงถึง 2.7 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐไปแล้ว ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกต้องอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเพื่อพยุงระบบเศรษฐกิจ ชนิดเรียกว่าเป็น บาซูก้าทางการคลัง เลยทีเดียว

เมื่อแนวทางลดการแพร่กระจายของโรค คือ การหยุดการเคลื่อนย้ายของคน และ การเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นการทำงานจากบ้าน (Work From Home) ขณะที่ธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังต้องไปต่อ องค์กรที่มีการเตรียมแผนบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Plan) การออกแบบระบบไอทีและระบบข้อมูลสำรองที่ดี เพื่อให้พนักงานสามารถเชื่อมเข้าสู่ระบบและทำงานจากที่ไหนก็ได้อย่างปลอดภัย ย่อมได้เปรียบต่อการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น โรคระบาด หรือภัยพิบัติ มองมุมบวก ถือเป็นจังหวะดีที่องค์กรจะได้ปัดฝุ่นแผนบริหารธุรกิจในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตรวจเช็คเทคโนโลยีเดิม เพิ่มเติมเทคโนโลยีใหม่ อาทิ คลาวด์ แพลตฟอร์มออนไลน์ โซเชียลมีเดีย การประชุมแบบเสมือน เป็นต้น เพื่อสร้างพื้นที่การทำงานแบบเสมือน หรือ Virtual Workplace เพื่อให้พนักงานยังสามารถทำงานได้ตามปกติ แม้ไม่สามารถเข้าไปยังสำนักงานได้ และถือโอกาสเรียนรู้ไปพร้อมกับพนักงานในการพัฒนาศักยภาพการทำงานและธุรกิจผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตามแนวทางเวอร์ช่วลไลเซชัน ซึ่งจะกลายเป็นวิถีปกติ (New Normal) สำหรับองค์กรยุคดิจิทัลในอนาคต

คลาวด์ คอมพิวติ้ง นับว่าเป็นแพลตฟอร์มที่พร้อมต่อการรองรับการทำงานจากระยะไกล (Remote Workforce) เพราะคลาวด์ถูกสร้างมาให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมการทำงานแบบเวอร์ช่วลไลเซชัน และยังรองรับอุปกรณ์เชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตหลากหลายชนิด จึงมีความยืดหยุ่น และคล่องตัวสูง ทำให้องค์กรสามารถ “เติม-ปรับ-ปัน” ทรัพยากรไอทีในระบบ ให้สอดคล้องกับมาตรการรักษาระยะห่างที่อาจเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินธุรกิจ

ตัวอย่างเช่น การหยิบเอา Cloud VDI ( Cloud Virtual Desktop Infrastructure) ซึ่งใช้เทคโนโลยีเวอร์ช่วลไลเซชันในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ BYOD ของพนักงาน ทั้งเครื่องพีซี แล็บท็อป อุปกรณ์โมบายด์ต่าง ๆ ให้กลายเป็นเครื่องเดสก์ท็อปเสมือน (Virtual Desktop) เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางสามารถแจกจ่ายทรัพยากรไอทีให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานของแต่ละคน เช่น การเพิ่มซีพียู หน่วยความจำ หรือพื้นที่จัดเก็บข้อมูลให้กับงานบางประเภท การอัพเกรดหรือควบคุมการติดตั้งซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชันต่าง ๆ อย่างถูกต้อง คอยสอดส่องการใช้อุปกรณ์ BYOD ต่าง ๆ เพื่อลดการติดไวรัสหรือมัลแวร์ ควบคุมไม่ให้เกิดการรั่วไหลหรือป้องกันการลักลอบนำข้อมูลออกไป รวมถึงมีระบบสำรองและกู้คืนข้อมูลเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ (disaster Recovery)

แนวทางการใช้-รับมือ ข้อมูลและแอปพลิเคชัน จากการทำงานนอกสำนักงานโดยอุปกรณ์ส่วนตัวของพนักงาน ปัจจุบัน มีแพลตฟอร์มการทำงานและการจัดการธุรกิจบนคลาวด์ให้เลือกใช้ได้ตามงบประมาณ และมีความปลอดภัยสูงในรูปแบบของการให้บริการไอที (SaaS) บริการแพลตฟอร์ม (PaaS) แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์โมบายด์ หรือ เว็บแอปพลิเคชัน อาทิ โปรแกรมพื้นฐานในการจัดการเอกสารทั่วไปอย่าง เวิร์ด สเปรดชีท เช่น ออฟฟิศ 365 แพลตฟอร์มการบริหารงานองค์กรและลูกค้า เช่น อีอาร์พี เอชอาร์ การวิเคราะห์ข้อมูล ซีอาร์เอ็ม เป็นต้น ทำให้เกิดข้อมูลปริมาณมากผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้องค์กรอาจต้องเตรียมการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประมวลผลข้อมูล ระบบบริหารจัดการใช้งานศูนย์ข้อมูลจากระยะไกล หรือ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและระบบจัดเก็บข้อมูลสำรองบนคลาวด์ เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าถึง แชร์ใช้ และจัดเก็บไฟล์ข้อมูลต่าง ๆ ได้สะดวกและรวดเร็วไม่ต่างกับการทำงานอยู่ในสำนักงาน และมีความปลอดภัยสูง

ปัจจุบัน มีเครื่องมือที่ช่วยให้การใช้งานบริการไอที แอปพลิเคชันบนเว็บหรืออุปกรณ์มือถือ หรือการใช้งานเครือข่ายภายในองค์กร ผ่านอุปกรณ์ BYOD มีความยืดหยุ่นและปลอดภัย อย่าง วีเอ็มแวร์ เวิร์คสเปซวัน (VMware Workspace One) สำหรับองค์กรที่เน้นความสำคัญเรื่องการควบคุมนโยบายและการปกป้องข้อมูล สามารถสร้างเครื่องมือระบุตัวตนชั้นป้องกันพิเศษ (Multi-Factor Authentication) ได้ ทั้งการใช้งานผ่านคลาวด์สาธารณะ หรือ คลาวด์ในองค์กร รวมถึง วีเอ็มแวร์ ฮอริซัน (VMware Horizon) ซึ่งช่วยสนับสนุน Cloud VDI ในการสร้างเดสก์ท็อปและแอปพลิเคชันแบบเสมือน (Virtual Desktop & Virtual Application) บนเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งทำให้พนักงานสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อทำงานจากที่ไหนก็ได้

การจัด แพลตฟอร์มการสื่อสาร ที่ปลอดภัยหลายช่องทางให้เลือกใช้ในการติดต่อทางธุรกิจระหว่างพนักงาน ผู้บริหาร คู่ค้า และลูกค้า อย่าง อีเมล์ ระบบส่งข้อความแบบทันที ระบบประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ หรือ เว็บ คอนเฟอเรนซ์ การเพิ่มช่องทางการสื่อสารเฉพาะกลุ่มทำงาน เช่น กรุ๊ปไลน์ ห้องแชทเฉพาะทีม (Team Room) รวมถึงดึงเอาศักยภาพของเครื่องมือดิจิทัล เช่น ไอโอที เอไอ วีอาร์ มาเสริมกิจกรรมการขายและสื่อสารการตลาด (Digital Marketing) การนำเสนอสินค้าและบริการผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อทดแทนการที่เราไม่สามารถเข้าถึงตัวลูกค้าได้โดยตรง

การทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตโดยผู้ใช้งานจากหลายตำแหน่งแห่งที่ หลากหลายแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน คงทำให้เราพอมองเห็นภาพปริมาณของข้อมูล และการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมาก ดังนั้น ประสิทธิภาพของ ระบบเครือข่าย จึงต้องรวดเร็ว โดยเฉพาะเบนด์วิธ ซึ่งอาจไต่ระดับไปถึงการใช้เทคโนโลยี 5G อย่างไรก็ตาม ควรจัดสรรแบนด์วิธให้เหมาะกับข้อมูลและงานแต่ละประเภท เช่น ช่องแบนด์วิธที่ไม่สูงมากเอาไว้สำหรับการส่งไฟล์งานเอกสารทั่วไป ส่วนแบนด์วิธสูง ๆ เอาไว้สำหรับการประชุมผ่านวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ การนำเสนอไฟล์พรีเซ็นเตชัน การใช้งานวีอาร์ หรือ เอไอ นอกจากนี้ อาจจัดการทำงานให้เหลื่อมเวลากันในการออนไลน์เข้าสู่ระบบ เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งใช้แบนด์วิธจนทำให้การทำงานล่าช้า หรือระบบล่ม

การตระหนักถึง ความปลอดภัย ก็เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นการเชื่อมต่อการทำงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะนอกองค์กร ไม่ใช่เป็นการทำงานผ่านอินทราเน็ต หรือ ระบบเครือข่ายภายใน ที่องค์กรมีอำนาจควบคุมนโยบายและระบบรักษาความปลอดภัยได้เต็มรูปแบบ ดังนั้น องค์กรควรพิจารณาถึงระบบความปลอดภัยของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสาธารณะต่าง ๆ ร่วมด้วย รวมถึงมีมาตรการคุมเข้มเรื่องการระบุตัวตน สิทธิในการเข้าถึงระบบธุรกิจหลักหรือศูนย์ข้อมูลขององค์กรเฉพาะที่จำเป็นต่อการทำงาน และการตรวจสอบอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเพื่อป้องกันไม่ให้ภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตที่มาจากการใช้งานอุปกรณ์ BYOD ของพนักงานสามารถเจาะเข้าสู่ระบบไอทีขององค์กรในทุกทาง

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงตัวอย่างที่พอให้องค์กรได้เห็นภาพการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการทำงานและธุรกิจจากสำนักงานสู่บ้านให้เกิดประสิทธิภาพและปลอดภัยได้ทุกที่ ทุกเวลา ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด และมาตรการเว้นระยะห่างที่คงอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ เทคโนโลยีไอทีจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยต่อติดชีวิตผู้คนในสังคม และต่ออายุธุรกิจให้ยืนระยะกันไปยาว ๆ จนกว่าวันอวสานโควิด-19 จะมาถึง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version