เครือข่ายภัยพิบัติ สสส. พลิกวิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาสสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

อังคาร ๑๔ เมษายน ๒๐๒๐ ๑๔:๔๖
“ถ้าเชื้อยังไม่หยุด เราก็ยังไม่ถอย ร่วมกันสู้ต่อไป คนไทยไม่ทิ้งกัน” เป็นเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของเครือข่ายภัยพิบัติของมูลนิธิชุมชนไท 11 เครือข่าย ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สงขลา อุบลราชธานี ปทุมธานี และสมุทรสาคร นำโดย นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ด้วยการทำให้ชุมชนต่างๆ เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยชุมชนต้องเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติอย่างเข้มแข็ง มีศักยภาพในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัย และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้ดูแลตัวเอง รวมถึงให้เขาไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ต่อไปด้วย เพื่อข้ามพ้นภาวะวิกฤตินี้ไปให้ได้

มูลนิธิชุมชนไท หนึ่งในภาคีเครือข่ายหลักด้านการจัดการภัยพิบัติที่พัฒนางานร่วม กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 โดยเน้นการเสริมศักยภาพบุคคลและสร้างความเข้มแข็งชุมชน ขยายกลุ่มอาสาสมัครภัยพิบัติชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ดำเนินงานเชิงรุกร่วมกับท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติโควิด-19 โดยชุมชน ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ด้วยการรวมพลังร่วมช่วยกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการวางแผนรับมือ การให้ความรู้อย่างรอบด้าน รวมถึงการ “เว้นระยะห่างทางสังคม” (Social Distancing) เพื่อลดความเสี่ยง ลดการแพร่ระบาด

รวมถึงจัดให้ชุมชนได้เรียนรู้วิธีการเย็บหน้ากากอนามัย ผลิตหน้ากากพลาสติกป้องกันใบหน้า (face shield) เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สำหรับแจกจ่ายให้แก่สมาชิกในชุมชนตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมและมีอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ใช้เพื่อความปลอดภัย โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.), โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), นายกเทศมนตรี, อบต., กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, ประธานสภาองค์กรชุมชน, อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ฯลฯ

นอกจากนี้ เครือข่ายอาสาสมัครภัยพิบัติชุมชนยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด อาทิ ตั้งจุดคัดกรอง จัดหาเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ จัดทีมลงพื้นที่สำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงในชุมชน ผู้ที่เดินทางเข้า- ออกพื้นที่จากต่างจังหวัดหรือกลับภูมิลำเนา และแรงงานต่างด้าว เป็นต้น

“ทุกเครือข่ายของเราพร้อมที่จะสู้ไปด้วยกัน เพราะเรามีเป้าหมายให้เตรียมพร้อมจัดการได้ทั้งภัยธรรมชาติและโรคระบาดซึ่งนับว่าเป็นภัยพิบัติเช่นกัน เราได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เพื่อหนุนเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถรับมือได้ทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย มีองค์ความรู้ในการจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติชุมชน มีข้อมูลพื้นที่จัดทำแผนที่และจุดหลบภัย มีปฏิทินภัยพิบัติ ข้อมูลครัวเรือนของสมาชิกในชุมชนทั้งหมด จัดอบรมให้สามารถติดตามสภาพอากาศรวมถึงระดับน้ำจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำท่วม พายุ ภัยแล้ง ฯลฯ จัดตั้งอาสาสมัครที่รับผิดชอบดูแลงานฝ่ายต่างๆ เช่น เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย อพยพกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็ก ฝ่ายปฐมพยาบาล ฝ่ายค้นหากู้ภัยและช่วยชีวิต ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย ฝ่ายประสานงาน เป็นต้น สำหรับสถานการณ์ COVID-19 ขณะนี้ เราก็พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ด้วยการร่วมแรงประสานใจ ดูแลพี่น้องในชุมชนรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น ชุมชนชาวเลอันดามัน, ชาวมอแกน, กลุ่มคนจนเมือง ฯลฯ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดให้ดีที่สุดอย่างเต็มศักยภาพ” ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทกล่าว

ทั้งนี้ เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติของ สสส. อาทิ มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ มูลนิธิสื่อสังคม ฯลฯ จะประสานความร่วมมือเพื่อร่วมช่วยกันป้องกันแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชนและพื้นที่ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ให้มีอาชีพมีรายได้พออยู่พอกินต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ