นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 ปรับระบบบริการดูแลสุขภาพจิตแก่ประชาชนในพื้นที่4 จังหวัดอีสานตอนล่างหรือเขตสุขภาพที่9 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบ ได้แก่นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัว สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้องและจำเป็นในภาวะวิกฤติอย่างเพียงพอ และรับบริการได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่มีข้อจำกัดทั้งเวลาหรือสถานที่ เพื่อส่งเสริมสุขภาพใจให้เข้มแข็งและมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวอยู่ในสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัยตามนโยบายเร่งด่วนของอธิบดีกรมสุขภาพจิต ซึ่งข้อมูลความรู้ความเข้าใจและการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง จะเสมือนเป็นวัคซีนป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางจิตใจหรือเจ็บป่วยทางจิตซ้ำเติมตามมาภายหลัง ขณะเดียวกันหากประชาชนมีสุขภาพจิตดี ก็จะทำให้การดูแลสุขภาพกายดีตามไปด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จะควบคุมอาการได้ดีเช่นกัน
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า ระบบบริการที่กล่าวมา ดำเนินการ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ การเปิดสายด่วน 2 หมายเลข คือ 06 1023 5151 และหมายเลข 0 4423 3999 โดยจัดผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทั่วๆไป รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิตจากสุรา ในช่วงแรกนี้จะให้บริการในวันและเวลาราชการก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เป็นทางเลือกเพิ่มเติมจากบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่บริการทั่วประเทศตลอด24 ชั่วโมง
บริการรูปแบบที่ 2 คือแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) จัดทำเป็นแพคเกจบริการออนไลน์ เพียงใช้มือถือสแกนคิวอาร์โค๊ด (QR code) ก็จะเข้าสู่ระบบบริการและเป็นเพื่อนกันทันที แพคเกจนี้มี 6 บริการย่อย ประกอบด้วย 1.แบบประเมินความกังวลใจต่อไวรัสโควิด-19 2.แบบประเมินความเครียดตนเอง มีคำถามสั้นๆอย่างละ 5 ข้อ สามารถประเมินออนไลน์และรู้ผลทันที พร้อมด้วยคำแนะนำการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมกับระดับความเครียดหรือความกังวลในขณะนั้น 3. ชุดความรู้การดูแลสุขภาพจิต เช่นวิธีจัดการกับความเครียด การจัดการอารมณ์ ภาวะซึมเศร้า เบอร์สายด่วนของหน่วยงานต่างๆที่จำเป็นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้น 4.พบผู้เชี่ยวชาญ เป็นบริการแช็ตออนไลน์ ประชาชนสามารถพิมพ์ข้อความปรึกษาปัญหาต่างๆได้ทันที 5. การรับบริการที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯในช่วงโควิด-19 และ 6. สถานการณ์การเจ็บป่วยโรคโควิด-19 ในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับเขตสุขภาพที่ 9 เพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลที่เป็นจริง เชื่อถือได้ เกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นในระบบดูแลรักษาในพื้นที่ ประชาชนที่สนใจหรือต้องการใช้บริการ สามารถสแกนคิวอาร์โค๊ด ซึ่งขณะนี้ได้เผยแพร่ในเฟชบุคของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ และเวปไซต์ของรพ.คือ www.jvk.go.th
“ผู้ที่มีความเครียด
ไม่สบายใจ ไม่ควรเก็บปัญหาไว้คนเดียว เนื่องจากจะเป็นต้นตอนำไปสู่การเจ็บป่วยทางจิตใจได้ วิธีการแก้ไขที่ดีที่สุด
ขอให้พูดคุยกับผู้ที่ไว้ใจ การพูดคุยจะช่วยระบายสิ่งที่คับข้องใจ ทุกข์ใจออกมา
และมีทางออกแก้ไขได้ดีขึ้น แต่หากยังไม่ดีขึ้น
เช่นกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ความคิดวกวน สับสน สามารถขอรับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่ง
หรือโทรปรึกษาทางสายด่วน อย่าอายหมอ
หรือกลัวว่าคนอื่นจะมองในทางลบ
การมีปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องแปลก
จัดเป็นการเจ็บป่วยทางใจ
ต้องได้รับการดูแลรักษาและหายได้เช่นเดียวกับโรคทางกาย ” นายแพทย์กิตต์กวี กล่าว