ดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON ผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานฐานราก (เสาเข็มเจาะ) ระดับแนวหน้าของประเทศ เปิดเผยถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประชุมได้คำนึงถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างรอบคอบและรอบด้านแล้ว จึงมีมติอนุมัติให้เลื่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2563 โดยยกเลิกกำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2563 ที่ได้กำหนดไว้เดิมในวันอังคารที่ 28 เมษายน 2563 รวมทั้งให้ยกเลิกวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2563 ที่ได้กำหนดไว้เดิมเมื่อวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม 2563 ด้วย หากสถานการณ์คลี่คลาย และมีความเหมาะสมแล้ว คณะกรรมการบริษัทจะพิจารณากำหนดวันประชุม และระเบียบวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ขึ้นใหม่โดยเร็ว และจะแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบต่อไป ทั้งนี้การเลื่อนการประชุมดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของบริษัท และไม่กระทบสิทธิการรับเงินปันผลของผู้ถือหุ้น
เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้ถือหุ้นจากการเลื่อนประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทยังอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากกำไรของบริษัทประจำปี 2562 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.27 บาท คิดเป็นเงินปันผลจ่ายจำนวน 202,465,816.92 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 13 มีนาคม 2563 และการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะจ่ายให้เฉพาะผู้ถือหุ้นที่มีรายชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้น ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นวันเดิมที่ได้แจ้งต่อผู้ถือหุ้นแล้ว และจะไม่มีการจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2562 เพิ่มเติม ทั้งนี้บริษัทกำหนดจ่ายปันผลระหว่างกาลในวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เร็วขึ้น จากเดิมกำหนดไว้ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563
สำหรับทิศทางผลการดำเนินงานปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตราว 15% จากปีก่อนหน้า จากงานโครงการต่างๆ ในมือที่เตรียมรับรู้รายได้ อีกทั้งยังมีการประมูลโครงการใหม่ๆ เข้ามาเสริมพอร์ตในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลบวกทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างอ่อนตัวลงเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้การบริหารจัดการต้นทุนดีขึ้นด้วย โดยปัจจุบันมีมูลงานในมือ (Backlog) ที่รอส่งมอบราว 1,200 ลบ. คาดทยอยรับรู้รายได้ส่วนใหญ่ภายในปีนี้