TISCO แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/63

จันทร์ ๒๐ เมษายน ๒๐๒๐ ๑๓:๔๒
กลุ่มทิสโก้แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/2563 กำไรสุทธิ 1,484 ล้านบาท หรือลดลง 14.2% ชี้เศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤตและความท้าทาย ต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง

นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Suthas Ruangmanamongkol, Group Chief Executive) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ในไตรมาส 1 ของปี 2563 มีกำไรสุทธิ 1,484 ล้านบาท หรือลดลง 14.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ภาวะธุรกิจชะลอตัวลง รวมถึงภาวะความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง บริษัทมีการเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9) เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม บริษัทเตรียมจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 7.75 บาท สำหรับรอบผลประกอบการวันที่ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2562 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 27 เม.ย. 2563

“ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในปีนี้ คือ เรื่องคุณภาพสินเชื่อ จากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ การชะลอตัวลงของธุรกิจ กฎเกณฑ์มาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มเติมเข้ามา และยังมีความไม่แน่นอนของระยะเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากนี้ ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในปีนี้อาจแตกต่างจากที่เคยคาดการณ์ไว้” นายสุทัศน์ กล่าว

เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างรุนแรง ทั้งภาคการท่องเที่ยว การผลิต การส่งออก การบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งก่อให้เกิดความผันผวนรุนแรงในตลาดการเงินโลก เป็นแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่มีการเติบโตแบบชะลอตัวอยู่ก่อนหน้านี้ ให้ถดถอยลงอย่างรุนแรง ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 3.0% ถือเป็นการติดลบมากที่สุดในรอบเกือบร้อยปี ขณะที่ กลุ่มทิสโก้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะถดถอยในทิศทางเดียวกัน

โดยในช่วงที่เหลือของปี 2563 ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม 3 ประเด็น ได้แก่ 1) สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะมีความรุนแรงเพียงใด และ การ Lockdown จะใช้เวลานานเท่าใด 2) ผลของมาตรการบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ของทางการ ต่อระบบเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะส่งผลบวก ซึ่งต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการ การเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้จ่ายเงินของประชาชนต่อไป และ 3) สถานการณ์ภัยแล้ง

จากการคาดการณ์ข้างต้น กลุ่มทิสโก้ยังคงดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง โดยเน้นคุณภาพสินเชื่อและการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความร่วมมือสนับสนุนมาตรการต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งดำเนินการบรรเทาภาระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผ่านมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ การดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ในขณะเดียวกันยังคงสานต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า และรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้ สำหรับลูกค้าที่ต้องการทราบข้อมูลและติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือสามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนได้ผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคาร

สรุปผลประกอบการไตรมาส 1/2563

ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,484 ล้านบาท ลดลง 14.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 เป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว รวมทั้งการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้น จากอัตราผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามการขยายสัดส่วนสินเชื่อไปยังกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ลดลง รายได้ค่าธรรมเนียมทรงตัว โดยค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์อ่อนตัวลงจากการลดลงของรายได้จากธุรกิจนายหน้าประกันภัย และค่าธรรมเนียมจากเงินให้สินเชื่อ ในขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์และการออกกองทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้นในภาวะที่ตลาดทุนผันผวน ในขณะเดียวกัน บริษัทมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Expected Credit Loss – ECL) เพิ่มขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9) ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 14.8%

สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 237,872 ล้านบาท ลดลง 2.0% จากสิ้นปีก่อนหน้า จากการชะลอตัวของสินเชื่อทุกภาคธุรกิจในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนตัว อย่างไรก็ดี สินเชื่อจำนำทะเบียนยังคงสามารถเติบโตได้ดี โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียน ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ซึ่งเติบโต 4.4% เป็นไปตามแผนการขยายธุรกิจและการขยายสาขาสำนักอำนวยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ในขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.56% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 189.9%

ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดทั้งปี โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.2% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 17.6% และ 4.6% ตามลำดับ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๒ เม.ย. แจกจริง! แบรนด์ซุปไก่สกัดส่งมอบรถเทสล่า มูลค่า 1.649 ล้านบาท ให้ผู้โชคดี ในแคมเปญ ดื่มแบรนด์ สแกนเลขในขวด ปี
๐๒ เม.ย. GFC ตอบโจทย์ทุกความปลอดภัยเรื่องอาคาร - ถังแช่แข็งตัวอ่อน เปิดให้บริการสำหรับผู้มีบุตรยากตามปกติครบ 3
๐๒ เม.ย. KJL ลุยภาคใต้! จัดใหญ่สัมมนา 'รวมพลคนไฟฟ้า ON TOUR' ที่ภูเก็ต
๐๒ เม.ย. แว่นท็อปเจริญ จับมือ กรมกำลังพลทหารบก แนะแนวการศึกษาและอาชีพ สร้างโอกาสแก่ทหารกองประจำการและครอบครัว
๐๒ เม.ย. AnyMind Group คว้ารางวัล Gold ในงาน Martech Innovation Awards 2025
๐๒ เม.ย. โชว์พลังดีไซน์ไทยในงาน STYLE Bangkok 2025 รวมแบรนด์ดาวรุ่งจาก Talent Thai และ Designers' Room ที่คุณไม่ควรพลาด
๐๒ เม.ย. ธนาคารกสิกรไทย จัดสัมมนาใหญ่ K WEALTH Forum: เจาะลึก 5 ปัจจัยเปลี่ยนเกมการลงทุนโลก
๐๒ เม.ย. PSP ปิดดีลทุ่ม 409.5 ลบ. ถือหุ้นใน รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง (RE) ปักหมุดธุรกิจสู่ศูนย์กลางรีไซเคิลสารเคมีแห่งภูมิภาค
๐๒ เม.ย. กลุ่มซีไอเอ็มบี เปิดรับสมัครสอบชิงทุน CIMB ASEAN Scholarship 2025 ทุนเรียนต่อปริญญาตรี - ปริญญาโท พร้อมโอกาสร่วมงานกับกลุ่มซีไอเอ็มบี
๐๒ เม.ย. ศูนย์การค้าเครือเอ็ม บี เค เปิดพิกัดจุดสรงน้ำพระ เสริมสิริมงคลกับเทศกาล สงกรานต์อิ่มบุญ