รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามแผนแม่บท โครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชาชน (พ.ศ. 2562- 2570) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งการระบายน้ำ และจัดการคุณภาพน้ำในพื้นที่คลองเปรมประชากร และโครงข่ายที่เชื่อมต่อกัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำเสีย รวมถึงการฟื้นฟูและการพัฒนา การคมนาคมขนส่งทางน้ำตามโครงข่ายต่าง ๆ นั้น ในส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่คลองเปรมประชากรอยู่ในความรับผิดชอบ ในพื้นที่อำเภอบางปะอิน ความยาว 8.8 กิโลเมตร โดยจังหวัดได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณสองฝั่งคลองทั้งในส่วนของการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในคลองและสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพน้ำและการขุดลอกคลองบางกระสั้นที่เชื่อมต่อกับคลองเปรมประชากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ โดยบูรณการการทำงานร่วมกับกองทัพภาคที่ 1 โดยกองพลพัฒนาที่ 1 ที่ผ่านมา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการขุดลอกดินตะกอนที่เป็นสันดอนบริเวณปากคลองบางกระสั้นซึ่งกีดขวางการไหลของน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไหลเข้าสู่คลองเปรมประชากรได้สะดวกขึ้น ผมได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 6.39 ล้านบาท จากงบกลาง ปี 2563 เพื่อดำเนินการ การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้กำชับทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการโครงการฯ ให้แล้วเสร็จตามกำหนดก่อนฤดูฝนที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ ผลการดำเนินการหลังจากกองพลพัฒนาที่ 1 เข้าดำเนินการตั้งแต่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายในการขุดลอกให้มีความกว้าง 80 เมตร ลึก 4 เมตร ยาว 450 เมตร หรือมีปริมาณดินไม่น้อยกว่า 70,000 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีความก้าวหน้าร้อยละ 98 คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 30 เม.ย.นี้อย่างแน่นอน
ในโอกาสนี้ ผมขอชื่นชมการดำเนินการบูรณาการร่วมกันระหว่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและกองทัพบก โดยกองพลพัฒนาที่ 1 ในครั้งนี้ ที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนงานโครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองเปรมประชากรที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) รวม 6 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร 2. งานขุดลอกคลองเปรมประชากรจากคลองเชียงรากน้อย-สถานีสูบน้ำบางปะอิน 3. งานขุดลอกคลองเปรมประชากรจากคลองรังสิต-คลองเชียงรากน้อย 4. งานติดตั้งตะแกรงพร้อมเครื่องคราดขยะประตูระบายน้ำเปรมใต้รังสิต 5. งานก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองเปรมประชากรจากเทศบาลสงเคราะห์ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร 6. งานก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองเปรมประชากรจากคลองบ้านใหม่ถึงคลองรังสิตฯ นอกจากนี้ยังมีอีก 1 โครงการ คือ งานพัฒนาคูริมน้ำวิภาวดี ระยะที่ 2 ที่ช่วยแก้ไขปัญหาการระบายน้ำ ถนนวิภาวดีรังสิต โดยการสูบน้ำจากคูริมน้ำวิภาวดีออกสู่คลองเปรมประชากรและลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอีก ซึ่งขณะนี้หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้ดำเนินการแล้วเสร็จบางส่วนตามแผนงานที่วางไว้
สำหรับคลองเปรมประชากร เป็นคลองสำคัญในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2412 เพื่อการเดินเรือตั้งแต่ตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงเขตดุสิต กรุงเทพหานคร รวมความยาว 50.8 กิโลเมตร (กม.) โดยกรมชลประทานรับผิดชอบความยาว 28.5 กม. ปริมาณน้ำระบายผ่านคลองสูงสุด 24.67 ลบ.ม./วินาที และกรุงเทพมหานครรับผิดชอบความยาว 22.3 กม. ปัจจุบันคลองเปรมประชากรทำหน้าที่ระบายน้ำในพื้นที่โดยรอบในฤดูฝน และมีการรักษาคุณภาพน้ำซึ่งช่วงฤดูแล้งจะมีคุณภาพต่ำมาก โดยการหมุนเวียนน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งจากที่รับน้ำโดยตรงบริเวณต้นคลองในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจากคลองรังสิตฯ รวมถึงคลองต่อเนื่องในเขตกรุงเทพมหานคร ดังนั้น โครงการขุดลอกฯ จะช่วยให้คลองบางกระสั้นสามารถระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองเปรมประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์ มีน้ำใช้เพียงพอสำหรับเกษตรกรรม รวมถึงทำให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“แม้ว่าคลองเปรมประชากรจะไม่ใช่คลองระบายน้ำสายหลัก แต่ทำหน้าที่ระบายน้ำในพื้นที่โดยรอบในฤดูฝน และให้มีน้ำคุณภาพดีไหลหมุนเวียนในฤดูแล้ง ซี่งจากการพัฒนาคลองเปรมฯ อย่างต่อเนื่องพบว่า ปัจจุบันคุณภาพน้ำในคลองเปรมประชากรด้านเหนือคลองรังสิตประยูรศักดิ์อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงเสื่อมโทรมตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ แต่ยังไม่น้อยกว่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งในทางน้ำชลประทานของกรมชลประทาน ส่วนคุณภาพน้ำในคลองเปรมประชากรด้านใต้คลองรังสิตประยูรศักดิ์ด้านต้นคลองที่ติดคลองรังสิตฯอยู่ในเกณฑ์พอใช้ส่วนด้านล่างลงมาอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมากตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ และต่ำกว่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งในทางน้ำชลประทานของกรมชลประทาน เนื่องจากคลองเปรมประชากรด้านใต้คลองรังสิตประยูรศักดิ์มีบ้านเรือนรุกล้ำทางน้ำจำนวนมาก มีการปล่อยน้ำเสีย สิ่งปฏิกูลลงในคลอง ซึ่งกรมชลประทานร่วมกับกรุงเทพมหานครในการสูบน้ำดีจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ที่สถานีสูบน้ำเปรมใต้มาช่วยเจือจางน้ำเสีย โดยคลองรังสิตประยูรศักดิ์จะรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง รวมทั้งรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองเปรมประชากรด้านเหนือคลองรังสิตประยูรศักดิ์” ดร.สมเกียรติ กล่าว