ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2563 จำนวน 7,671 ล้านบาท

พุธ ๒๒ เมษายน ๒๐๒๐ ๐๙:๓๙
ในไตรมาสแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างหนักจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) การส่งออกและการนำเข้าสินค้าของไทยลดลงอย่างรุนแรง ขณะที่มาตรการในการควบคุมโรคของหลายประเทศ เช่น การจำกัดการเดินทาง และการปิดเมือง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง กอปรกับมาตรการของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโดยการหยุดกิจการชั่วคราวของห้างสรรพสินค้า สถานที่ให้บริการต่าง ๆ สถานบันเทิง รวมถึงการกำหนดมาตรการเคอร์ฟิว (ห้ามออกนอกเคหสถาน) ในช่วงเวลา 22.00 - 04.00 น. ทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงอย่างมาก นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรของไทยอย่างมีนัยสำคัญ

จากผลกระทบดังกล่าว รัฐบาลได้เร่งดำเนินการออกมาตรการต่าง ๆ ทั้งด้านการเงินและการคลังเพื่อผ่อนคลายผลเชิงลบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะประชาชนและผู้ประกอบการในภาคต่างๆ ที่ประสบความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการนี้ ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะประคับประคองให้ลูกค้าผู้ประกอบการและประชาชนสามารถผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ โดยที่ผ่านมาธนาคารออกมาตรการต่าง ๆ พร้อมทั้งสนับสนุนมาตรการของภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดูแลและให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการให้มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจและรักษา การจ้างงาน และช่วยเหลือประชาชนในการลดภาระทางการเงิน เพื่อก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสแรกจำนวน 7,671 ล้านบาท

ไตรมาส 1 ปี 2563 ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 จากไตรมาส 4 ปี 2562 จากการเติบโตของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อโดยใช้วิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate) ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 2.52 ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงร้อยละ 22.4 ส่วนใหญ่ลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ สำหรับรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลงจากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากไตรมาส 4 ปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิจากเงินลงทุนจำนวน 14,988 ล้านบาท กอปรกับเครื่องมือทางการเงินประเภทที่มาตรฐานบัญชีฉบับใหม่กำหนดให้วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมมีมูลค่าลดลงตามส ภาวะตลาดเงินและตลาดทุนที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 28.8 ทั้งนี้ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลลูกค้า พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียโดยจัดให้มีมาตรการป้องกันและดูแลการติดเชื้อโดยมีการประชุมในระดับฝ่ายจัดการอย่างใกล้ชิดและจัดการปรับเปลี่ยนการป้องกันให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลานับแต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 43.1 สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับไตรมาสแรกลดลงมาก เนื่องจากไตรมาสก่อนมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเสริมสร้างระดับสำรองของธนาคารให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามหลักความระมัดระวัง ก่อนการเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9)

ฐานะการเงินและเงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,115,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 จากสิ้นปี 2562 จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามประมาณการที่คาดไว้ตั้งแต่ปลายปีก่อน สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ขณะที่เงินสำรองของธนาคารยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 203.9 ของเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต ทั้งนี้ ธนาคารยังคงเคียงข้างและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ นอกจากนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้งดำรงค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังทั้งในภาวะเศรษฐกิจปกติและภาวะถดถอย

ธนาคารยังคงรักษาเงินกองทุนและสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 84.2 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 18.5 ร้อยละ 15.7 และร้อยละ 15.7 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

การนำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่มาถือปฏิบัติ

ธนาคารและบริษัทย่อยได้นำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9) มาถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยไม่ปรับงบการเงินเปรียบเทียบย้อนหลัง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การจัดประเภทและการวัดมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน การคำนวณการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินโดยใช้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) และการบัญชีป้องกันความเสี่ยง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ