สวรส. เผยผลวิจัยเจาะลึกพฤติกรรมคนไทย ต่อมาตรการลดแพร่ระบาดโควิด-19

จันทร์ ๒๗ เมษายน ๒๐๒๐ ๐๙:๓๙
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัย “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่าด้วยเส้นทางชีวิตและกิจกรรมร่วมของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์โควิด-19” ในช่วงสำคัญของการควบคุมการระบาดโควิค-19 โดยทำการศึกษาวิจัย Behavioral Insights ของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์ฯ ในด้านความรู้ความเข้าใจ ความตระหนักและการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขของประชาชน ลักษณะปัจเจกบุคคล ครัวเรือนและชุมชนที่มีผลต่อประเด็นต่างๆ ดังกล่าว ศึกษาถึงลักษณะวิถีชีวิตแบบใดที่จะเป็นอุปสรรคหรือทำให้ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขได้ ตลอดจนเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่จะนำมาออกแบบนโยบายที่เหมาะกับการสื่อสารและการนำนโยบายไปใช้ได้ประสบความสำเร็จ รวมทั้งได้ศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมของประชาชนตามมาตรการต่างๆ ในช่วงล็อคดาวน์ (5-9 เม.ย.) และหลังล็อคดาวน์ 2 สัปดาห์ (18-19 เม.ย.) กับ 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้อยู่อาศัยในเขตเมือง (คนในเขตเมือง) ผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองแต่รายได้น้อย (คนจนเมือง) ผู้อยู่อาศัยนอกเขตเมืองในต่างจังหวัด (คนชนบท) และผู้อยู่อาศัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนชายแดนใต้) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะน่าสนใจต่อความสำเร็จของการควบคุมการระบาด เช่น ลักษณะการอยู่ร่วมกันของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งพบว่าคนจนเมืองมีสมาชิกในบ้านโดยนอนรวมกันมากที่สุด, คนชายแดนใต้มีสมาชิกครัวเรือนสูงที่สุด เป็นต้น

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าว เป็นหนึ่งในงานวิจัยเชิงระบบของ สวรส. ที่เร่งดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดโควิด-19 เพื่อนำข้อมูลสนับสนุนให้หน่วยงานหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนามาตรการหรือปรับการดำเนินงาน โดยนำข้อมูลสะท้อนกลับให้แก่ผู้กำหนดนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาในสถานการณ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการออกแบบแนวคิดเพื่อพัฒนาการสื่อสารมาตรการต่างๆ ให้เหมาะสมกับสังคมไทยต่อไป

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เปิดเผยผลสำรวจข้อมูลเจาะลึกพฤติกรรม ความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติของประชาชนว่า ประชาชนและสถานประกอบการส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือตามมาตรการด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การอยู่บ้าน ล้างมือ และมีความตื่นตัวในการเฝ้าระวังโรค การรับรู้ข่าวสารและเข้าใจมาตรการต่างๆ ของรัฐ พร้อมที่จะปฏิบัติตามข้อแนะนำของฝ่ายสาธารณสุข แต่มีข้อจำกัดจากลักษณะครัวเรือนและการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ส่งผลให้บางมาตรการได้ผลน้อย รวมทั้งการศึกษายังทำการเปรียบเทียบผลการสำรวจบางประเด็นในช่วงเพิ่งล็อคดาวน์ กับหลังจากล็อคดาวน์แล้ว 2 สัปดาห์ ที่พบประเด็นที่น่าสนใจต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการระบาดของรัฐ และประเด็นความสำเร็จจากความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ของประชาชน

งานวิจัยสำรวจข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 กลุ่ม โดยศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและการทำกิจกรรมร่วมกัน พบว่าคนไทยทั่วประเทศติดตาม รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และมาตรการป้องกันจากหน่วยงานสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด มีทัศนคติต่อข้อมูลเหล่านั้นดี และยินดีปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐ โดยเฉพาะคนในเขตเมือง ไม่มีกิจกรรมร่วมกันหรือไม่สังสรรค์ร่วมกัน สูงถึง 94% ไม่สัมผัสผู้ป่วยที่มีอาการหวัด 96% ไม่เข้าไปยังพื้นที่แออัด 75% ล้างมือก่อนกินข้าวทุกครั้ง 85% เป็นต้น

ส่วนการใช้มือจับหน้าและการทำ social distancing ยังไม่ดีนักในกลุ่มคนจนเมือง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่หลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตในพื้นที่แออัดไม่ได้ เช่น ในชุมชน ตลาดสด และการใช้รถสาธารณะ พบข้อมูลยังสูงอยู่ โดยยังไปในพื้นที่แออัด 1 ครั้งคิดเป็น 35% มากกว่า 1 ครั้ง 22% และสัดส่วนของจำนวนคนต่อการใช้พื้นที่ของกลุ่มคนจนเมืองมีค่อนข้างหนาแน่น ซึ่งมักอยู่รวมกันในห้องเดียวหลายคนด้วยเพราะสภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงคนชายแดนใต้ยังต้องมีกิจกรรมทางศาสนาและคนชนบทยังไปมาหาสู่กันอยู่ ดังนั้นการเว้นระยะห่างระหว่างกันจึงได้รับความร่วมมือน้อยกว่าคนในเขตเมือง

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่า 89% ของกิจกรรมร่วมกันหรือการสังสรรค์กันเกิดขึ้นภายในบ้านตนเองหรือบ้านเพื่อนและญาติ ดังนั้นนอกจากการปิดสถานที่ต่างๆ แล้ว ควรประชาสัมพันธ์ให้หลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังการแพร่เชื้อจากการเดินทางไปบ้านคนอื่นด้วย ด้านช่องทางสื่อที่มีประชาชนติดตามมากที่สุดคือ โทรทัศน์ รองลงมาเป็นสื่อออนไลน์ ส่วนคนชนบทช่องทางการสื่อสารผ่านตัวคน เช่น ครอบครัว เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ญาติ คนในชุมชน เสียงตามสาย ยังมีอิทธิพลต่อการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ทั้งนี้จากผลการสำรวจข้อมูลดังกล่าว ทีมวิจัยมีข้อเสนอแนะต่อการสื่อสารเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคคือ ควรมีคำแนะนำหรือข้อปฏิบัติบอกว่าต้องทำอย่างไร ถ้าต้องอยู่ร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น วิธีปฏิบัติตัวก่อน-หลังเข้าบ้าน วิธีใช้ห้องน้ำร่วมกัน ฯลฯ โดยรัฐควรมองขอบเขตการควบคุมจากระดับบุคคลให้เป็นระดับครัวเรือน รวมถึงควรมีมาตรการหลากหลายให้เหมาะสมกับพื้นที่และพฤติกรรมของครัวเรือน ตลอดจนการสื่อสารที่เน้นย้ำถึงการไม่แสดงอาการของโรค ลักษณะของการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นได้ง่าย ควบคู่กับการแสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการขยายระยะเวลาของมาตรการต่างๆ ที่ยาวนานออกไป เนื่องจากจะทำให้คนปฏิบัติตามแนวทางสาธารณสุขมากขึ้น” ผศ.ดร.ธานี กล่าว

ส่วนการเปรียบเทียบผลการสำรวจบางประเด็นใน 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเพิ่งล็อคดาวน์กับหลังจากล็อคดาวน์แล้ว 2 สัปดาห์ จากการตอบคำถามโดยคนเดิมพบว่า คนติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดและลงในรายละเอียดน้อยกว่าช่วงที่มีการล็อคดาวน์ใหม่ๆ และมีความตั้งใจปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ลดลงมาก และคนส่วนใหญ่คิดว่าตนเองมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างชัดเจน โดยจากเดิมประมาณ 60% คิดว่าตนเองมีโอกาสติดค่อนข้างน้อยหรือน้อย เพิ่มเป็นเกือบ 80% ซึ่งอาจส่งผลให้การปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขลดลงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้คนส่วนใหญ่เคร่งครัดต่อการปฏิบัติตามมาตรการลดลง โดยเฉพาะมาตรการ social distancing ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการออกไปทำกิจกรรม/สังสรรค์ ช่วงเพิ่งล็อคดาวน์ 5.0% หลังจากล็อคดาวน์ 8.5% แต่การปฏิบัติตัวตามมาตรการของแต่ละสถานที่กำหนด เช่น ร้านสะดวกซื้อ ตลาด กลับพบว่าดีขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้ หากมีการล็อคดาวน์ต่อ ความตั้งใจในการปฏิบัติตามอาจไม่กลับสู่ค่าเดิมในช่วงแรกของการล็อคดาวน์ได้อีก เนื่องจากความล้าทางพฤติกรรมและความกดดันทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงควรสื่อสารให้ชัดเจนว่าต้องปฏิบัติต่อไปแม้จะรู้สึกว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว และยังมีคนอื่นในสังคมที่ให้ความร่วมมืออย่างเคร่งครัดอีกเป็นจำนวนมาก หรือหากจะยกเลิกการล็อคดาวน์ ควรใช้มาตรการขอความร่วมมือให้สถานประกอบการหรือพื้นที่ต่างๆ ออกกฎบังคับหรือมีบทลงโทษกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎของสถานที่ เนื่องจากพบว่าคนส่วนใหญ่ปฏิบัติตามกฎของสถานที่เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ข้อมูลงานวิจัยดังกล่าวได้ถูกนำเสนอเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาจัดทำร่างข้อเสนอแนวทางการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ของประเทศต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO