ไทยเบฟ ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย กระทรวงทรัพย์ฯ และภาคีภาคเอกชน ร่วมเปิดตัวโครงการ“ส่งพลาสติกกลับบ้าน”

จันทร์ ๒๗ เมษายน ๒๐๒๐ ๑๔:๔๐
ไทยเบฟ ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย กระทรวงทรัพย์ฯ และภาคีภาคเอกชน ร่วมเปิดตัวโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” รับมือวิกฤตขยะ จากสถานการณ์โควิด-19 เล็งพัฒนาระบบการเก็บคืนขยะ หนุนวิถีเศรษฐกิจหมุนเวียน

เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนฯ จับมือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ภาคีภาคเอกชน เปิดตัวโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” รับมือวิกฤตขยะจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ตั้งเป้าเพิ่มอัตรารีไซเคิล พัฒนาระบบเก็บคืนขยะ กระทรวงทรัพย์ชี้ ขยะพลาสติกจากบริการเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น 15% ขณะที่ขยะอาหารและขยะติดเชื้อจากการใช้หน้ากากอนามัยมีเพิ่มมากเช่นกัน

เกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ปริมาณขยะเป็นเรื่องของวิกฤตซ้อนวิกฤตและต้องมีการเร่งรับมือ โดยการดำเนินการจัดการอย่างมีส่วนร่วมจาก ภาคประชาชน ภาครัฐ และ ภาคเอกชน มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ อย่างไรก็ตามเราต้องให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชนและผู้ประกอบการที่กำลังเผชิญกับปัญหาที่เกิดอยู่ในขณะนี้ ทางกระทรวงฯ อยากขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเท่าที่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อลดขยะพลาสติกและแยกขยะเพื่อนำกลับมารีไซเคิล ส่วนขยะอาหารและขยะติดเชื้อจากการใช้หน้ากากอนามัย อยากขอความร่วมมือภาคประชาชนให้แยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับพนักงานเก็บขยะและลดภาระบ่อฝังกลบ” ทั้งนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เข้าสู่สภาวะปกติ ทางกระทรวงฯ อยากขอความร่วมมือประชาชนอีกครั้ง หลังจากที่ได้เริ่มรณรงค์กันมาตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เพื่อ ลด ละ เลิก ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การทำเช่นนี้จะสามารถช่วยลดการก่อให้เกิดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อยากให้พวกเราทุกคนร่วมมือกันคัดแยกขยะ เพื่อนำขยะกลับมารีไซเคิล เพื่อสร้างประโยชน์ใหม่อย่างมีคุณค่าต่อไป”

นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) กล่าวว่า โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เกิดจากแนวคิดว่าทุกครัวเรือน คือ ต้นทาง ที่สามารถมีส่วนรวมในการลดและจัดการกับปัญหาปริมาณขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ single use plastic ที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ง่ายๆ และทำได้ทันที โดยเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศ (TRBN) ร่วมกับสมาชิกฯได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) เทสโก้ โลตัส บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด บริษัท แก้วกรุงไทย จำกัด และ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ภาคี บริษัท คิด คิด จำกัด บริษัท GEPP Sa-ard จำกัด เพจ เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา และบริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชัน จำกัด ริเริ่มโครงการดังกล่าวขึ้น

ภายใต้โครงการนี้ในระยะแรกเป็นการรณรงค์ให้ครัวเรือนร่วมกันแยกขยะติดเชื้อและรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไป

ขณะที่การดำเนินงานในระยะต่อไป ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ที่จะถึง

โครงการจะมีการดำเนินการโมเดลนำร่องระบบ “การเรียกคืนขยะพลาสติก” บนถนนสุขุมวิท

เพื่อลดปริมาณขยะอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยใช้พื้นที่ดิสเคาน์สโตร์และซูเปอร์มาร์เกต เช่น เทสโก้ โลตัส สาขาอ่อนนุช

และกูร์เมต์ มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ ฯลฯ

เป็นจุดรับขยะพลาสติกสะอาดและแห้งจากผู้บริโภค

เพื่อเข้าสู่เครือข่ายผู้ให้บริการและขนส่งทรัพยากรไปยัง “Waste

hub” และเข้าสู่ขั้นตอนการรีไซเคิล ( recycle)

ไปจนอัพไซเคิล ( upcycle) และหวังว่าโครงการจะสามารถขยายผลโมเดล

“การเรียกคืนขยะพลาสติก” ไปสู่ถนนอื่นๆ

รวมถึงการมีพันธมิตรมากขึ้นในการดำเนินการในอนาคต

ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวเสริมว่า “GC เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาการจัดการพลาสติกหลังการใช้อย่างจริงจัง โดยเป็นผู้บุกเบิก แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และริเริ่มโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการได้ผลจริง ยิ่งในวิกฤต COVID-19 นอกจาก GC ได้ช่วยเหลือทีมแพทย์และประชาชน ผ่านการใช้ประโยชน์จากพลาสติกและเคมีภัณฑ์ต่างๆ นั้น เรายัง “คิดต่อ” ถึงการจัดการพลาสติกที่ถูกนำไปใช้มากเป็นพิเศษในช่วงนี้ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์เดลิเวอร์ลี่ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ในการให้องค์ความรู้การจัดการพลาสติกหลังการใช้ ควบคู่กับการนำเสนอโมเดล GC Circular Living Platform for Everyone ที่เป็นทางออกของปัญหา เช่น แนวทางการคัดแยกที่ถูกต้อง การสร้างมูลค่าเพิ่มตามกรอบ GC Upcycling อีกทั้งยังช่วยเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อนำขยะพลาสติกที่ผ่านการคัดแยกอย่างถูกวิธี ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่ามากขึ้น ส่วนในอนาคต GC จะมีโรงงาน Recycle ที่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2564 ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งโครงการนี้และโครงการอื่นๆ ได้มากขึ้นด้วย เป็นการเตรียมความพร้อมให้ภาคสังคมก้าวสู่เศรษฐกิจแบบหมุนเวียนอย่างเต็มตัวอีกทางหนึ่ง”

คุณโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายพัฒนาความเป็นเลิศ และ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไทยเบฟมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล โดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุหลายประเภท การบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์เป็นเรื่องที่ไทยเบฟให้ความสำคัญและมีแผนบริหารจัดการอย่างครบวงจรและสนับสนุนเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน มีการประสานความร่วมมือกับคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อนำบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เป็นการลดขยะ ลดการใช้ทรัพยากร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นที่เกาะสมุยจัดตั้งศูนย์การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (recycling center) บนเกาะเพื่อรับซื้อขวดแก้ว ขวดพลาสติกใช้แล้วและเศษแก้ว กลับคืน พร้อมให้บริการขนส่งไปยังภาคพื้นดิน โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าและประชาชนมีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะบนเกาะ และกระจายรายได้สู่ชุมชน ไทยเบฟจึงมีความยินดีที่ TRBN เปิดพื้นที่ความร่วมมือให้บริษัทเอกชนและภาคส่วนอื่นๆ ได้มาทำงานร่วมกันเพื่อมีส่วนช่วยจัดการปัญหาขยะส่วนรวมอย่างยั่งยืน ไทยเบฟมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทุกมิติ ควบคู่ไปกับการสร้างประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ”

ด้าน รศ. ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หัวใจสำคัญในการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน”อยู่ที่การบริหารจัดการขยะ ทั้งเรื่องการแยกขยะและการทำให้ขยะสะอาด สำหรับวิธีการแยกขยะอย่างถูกต้องทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยในการจัดการขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย ต้องตัด ผูก ใส่ถุงและติดป้าย ขณะที่ขยะรีไซเคิล (Recycle) เช่น ภาชนะใส่อาหาร ต้องกำจัดเศษอาหาร ล้างน้ำให้สะอาด เช็ด/ตากแห้ง ใส่ถุงและติดป้าย การแยกขยะอย่างถูกต้องจะมีส่วนช่วยให้พนักงานเก็บขยะปลอดภัยขึ้น ลดภาระบ่อฝังกลบ และช่วยส่งพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และวัสดุอื่นๆ กลับเข้าสู่ระบบการนำมาใช้ประโยชน์หรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน มุ่งเน้นเป็นพิเศษไปที่เป้าหมายไปที่การปิดช่องไม่ให้ขยะหลุดออกสู่ธรรมชาติหรือไปสู่บ่อฝั่งกลบให้น้อยที่สุด”

นายพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร (ท๊อป) ผู้ก่อตั้ง บริษัทคิดคิด (กิจการเพื่อสังคม) กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้น ในการขยายความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการแยกขยะและเรียกคืนขยะเพื่อเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้อง พวกเราจะเป็นใครมาจากไหนก็ตาม เราทุกคนสามารถร่วมมือกันได้ ไม่ต้องคิดเยอะ เริ่มได้ด้วยการ 'ทำเลย’”

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า “นโยบายของกลุ่มเทสโก้ คือการสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ (closed-loop packaging) ตลอดห่วงโซ่ของบรรจุภัณฑ์ โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน (redesign) ลดปริมาณการใช้ (reduce) หรือยกเลิกการใช้วัสดุบางประเภท (remove) นำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ (reuse) เก็บกลับเข้าระบบ (retrieve) และนำไปรีไซเคิล (recycle) ที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ อาทิ เครื่อง Reverse Vending Machine ให้ลูกค้านำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาแลกกับแต้มบัตรคลับการ์ด โดยขวดพลาสติกที่เก็บกลับเข้าระบบถูกนำไปรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นถุงผ้าสำหรับช้อปปิ้งให้ลูกค้านำกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นอกจากนั้น เรายังได้มีการจัดตั้งศูนย์รีไซเคิลขยะประเภทต่างๆ ในสาขาของเรา เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการนำขยะกลับเข้าระบบเพื่อจัดการอย่างถูกวิธีต่อไป ความร่วมมือในโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” สอดคล้องกับนโยบายของเราในการสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ โดยเทสโก้ โลตัส ยินดีที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางวิกฤตโควิด-19”

ทางด้าน นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “เดอะมอลล์ กรุ๊ป ในฐานะที่เป็นองค์กรภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเคียงคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตอกย้ำความเป็นห้างสรรพสินค้าสีเขียวแห่งแรกของไทยซึ่งได้ดำเนินนโยบายนำร่องเป็นห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตรายแรกที่งดบริการถุงพลาสติก ภายใต้โครงการ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป โก กรีน” ร่วมรับผิดชอบต่อสังคมครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะปัญหาด้านการจัดการขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากการปรับตัว เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 มีความยินดีเข้าร่วมโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” โดยจัดตั้งศูนย์การจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ ในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ประชาชน ในการนำขยะที่จัดการอย่างถูกวิธีกลับเข้าสู่ระบบ นำไปสู่การรีไซเคิล สร้างประโยชน์รายได้กลับคืนสู่สังคมต่อไป นอกจากนี้ โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ยังเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของเดอะมอลล์กรุ๊ปที่ยึดถือมาโดยตลอด โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการร่วมมือกันเพื่อการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสิ่งแวดล้อมและอนาคตของคนไทยเราทุกคน”

ถือเป็นความร่วมมืออันดี ของทุกภาคส่วนที่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผสานความร่วมมือในการรับมือวิกฤตขยะรับมือวิกฤตขยะจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ คปภ. เปิดตัวคู่มือการทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) และการประกันอัคคีภัย แนะแนวทางการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอย่างเหมาะสม
๑๖:๒๖ SiteMinder เผย โรงแรมไทยเติบโต ก้าวเป็นผู้นำตลาด หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้าประเทศ
๑๗:๕๙ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งให้การต้อนรับ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ณ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ
๑๖:๐๐ fintips by ttb เผยเคล็ดลับ รถใหม่ป้ายแดงหรือรถมือสอง เลือกแบบไหนให้เหมาะกับเราที่สุด
๑๖:๐๐ มาแล้ว! เปิดตัว Samsung Galaxy S25 ซีรีส์ใหม่ล่าสุด มาพร้อม Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่ของคนไทย ตอบโจทย์รู้ใจทุกความต้องการเฉพาะคน
๑๖:๐๐ กทม. เดินหน้ากำจัดปลาหมอคางดำ ลดผลกระทบเกษตรกร-แปรรูปสร้างรายได้
๑๖:๐๐ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ร่วมฉลองเทศกาลตรุษจีนยิ่งใหญ่ Chinese Market 2025 ช้อปสินค้ามงคล เสริมดวงโชคดีมั่งมี
๑๖:๐๐ SNPS ต้อนรับ คณะผู้บริหารและนักวิจัยสภากาชาดไทย
๑๕:๒๔ BEST Supply Chain ยกระดับจัดการคลังสินค้ายุคใหม่ ชู BEST Fulfillment เพิ่มประสิทธิภาพจัดการสินค้า จบครบในที่เดียว
๑๕:๐๐ เด็กซ์ซอนผนึกกำลังภาคีเครือข่าย TCCA ตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero