นายอนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยว่า จากการร่วมประชุมกับ กระทรวงพาณิชย์ และกลุ่มผู้ประกอบการด้านการผลิตไก่สดและแปรรูปของไทย พบว่าในวิกฤติโควิด-19 ยังคงมีโอกาสสำหรับสินค้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ของไทย ที่ยังคงเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปที่ทันสมัย ระบบฟาร์มมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมป้องกันโรคในสัตว์ปีกในระดับแนวหน้าของโลก และด้วยศักยภาพการเป็นผู้ผลิตไก่เนื้อเป็นอันดับ 8 ของโลก ด้วยกำลังการผลิต 2.8 ล้านตันต่อปี และเป็นผู้นำด้านการส่งออกเป็นอันดับ 4 ของโลก พบว่าช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 นี้ การส่งออกไก่ของไทยมีการขยายตัวแล้วถึง 3-4% แม้จะมีอุปสรรคเรื่องการล็อคดาวน์ในประเทศต่างๆ จากปัญหาโควิด-19 ทำให้ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อ แต่เชื่อว่าสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น บางประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆลง จะทำให้ความต้องการบริโภคเริ่มกลับมา
"สมาคมฯ คาดว่าการส่งออกไก่ในปี 2563 จะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ปริมาณ 950,000 - 960,000 ตัน มูลค่ากว่า 111,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะคลี่คลายเร็วหรือช้า ทั้งนี้ยังมีปัจจัยบวกในตลาดจีน ที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่คาดว่าปีนี้จะส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้นอีก 35,000-40,000 ตัน จากการประกาศรับรองโรงงานไก่อีก 7 แห่ง ทำให้มีโรงงานไก่ของไทยถึง 21 แห่งที่สามารถส่งออกไก่ไปตลาดจีนได้ ขณะที่สิงคโปร์ที่เป็นตลาดอันดับที่ 6 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ การนำเข้าไก่ขยายตัวสูงถึงกว่า 10% และยังคงมีคำสั่งซื้อที่แน่นอนเข้ามาปกติ รวมทั้งมีสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการที่เคยเข้มงวดด้านการนำเข้า เพื่อให้มีปริมาณเนื้อไก่เพียงพอกับการบริโภค ป้องกันปัญหาการขาดแคลนอาหาร สะท้อนว่าตลาดไก่ยังสดใส และไทยพร้อมส่งออกอยู่ตลอดเวลารอเพียงออร์เดอร์ที่เข้ามาเท่านั้น" นายอนันต์กล่าว
ขณะเดียวกัน ในตลาดส่งออกอันดับ 1 อย่างญี่ปุ่น ที่มีปริมาณ 438,000 ตัน มูลค่า 59,700 ล้านบาท ซึ่งได้มีการนำเข้าไปสต็อกเรียบร้อยแล้ว ลูกค้าจึงกำลังรอดูสถานการณ์ก่อน รวมถึงสหภาพยุโรป (EU) ที่เป็นตลาดอันดับ 2 ประมาณ 320,000 ตัน ก็ยังคงโควตาเดิม มูลค่า 33,800 ล้านบาท และยังรอการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิดอยู่ ส่วนตลาดอื่นๆ คาดว่ามีปริมาณ 196,000 ตัน มูลค่า 18,000 ล้านบาท
นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวถึงประเด็นที่สมาคมผู้แปรรูปสัตว์ปีก (AVEC) สมาคมผู้ค้าสัตว์ปีกแห่งสหภาพยุโรป และสมาคมผู้เลี้ยงและฟักสัตว์ปีกแห่งสหภาพยุโรป (ELPHA) ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ปรับลดการนำเข้าไก่เนื้อจากบราซิล ไทย และยูเครน จำนวน 850,000 ตัน เพื่อแก้ปัญหาไก่ในประเทศโอเวอร์ซัพพลาย ว่าเรื่องนี้คณะกรรมาธิการยุโรปต้องมีการพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ และที่สำคัญจะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันลูกค้าในตลาดนี้ได้ชะลอซื้ออยู่แล้ว เนื่องจากในยุโรปร้านอาหารต่างปิดตัวลงจากสถานการณ์โควิด ทำให้ไทยส่งเข้าตลาด EU ลดลงอยู่แล้ว ตามความต้องการบริโภคที่ลดลงในช่วงนี้ และเรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลกับรัฐบาลที่จะต้องเจรจากันในการจำกัดหรือชะลอการนำเข้า เนื่องจากในสถานการณ์เช่นนี้ความต้องการย่อมลดลง เป็นปัญหาที่ทั้งโลกต้องเผชิญร่วมกัน./