นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อมุ่งหวังสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคถึงคุณภาพผลผลิตจากภาคเกษตร ไปพร้อมกับการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรไทย ให้มีโอกาสและมีรายได้มากขึ้น ซึ่งมกอช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ในการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าเกษตร โดยดำเนิน “โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ภาคตะวันออกให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) ปี 2563” เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในภาคตะวันออกมีความรู้ความเข้าใจในหลักการปลูกทุเรียน ให้ได้ตามมาตรฐาน GAP และมีความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การรับซื้อผลผลิตทุเรียนของโรงงานผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง เพื่อการส่งออกตามมาตรฐานบังคับ พร้อมทั้งได้รับความรู้เรื่องการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน หรือเครื่องหมาย Q ได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ มกอช. ได้ดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว เป็นปีที่ 2 แล้ว โดยในปี 2562 มีเกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 38 ราย ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนในปี 2563 มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเข้าร่วมโครงการฯ และยื่นสมัครขอการรับรองมาตรฐานฯ กับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร จำนวนทั้งสิ้น 120 ราย ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จึงได้จัดทำ “โครงการตรวจประเมินเบื้องต้น (Pre-audit) เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนแปลงใหญ่จังหวัดตราด ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) ปี 2563” ขึ้น
โดย มกอช. ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินเบื้องต้น ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนแปลงใหญ่จังหวัดตราด แบ่งออกเป็น 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 16-20 มีนาคม 2563 ณ อาคารอเนกประสงค์กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียน ตำบลชำราก และตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดตราด รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-27 มีนาคม 2563 ณ อาคารอเนกประสงค์กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียน ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด และ รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2563-2 เมษายน 2563 ณ อาคารอเนกประสงค์กลุ่มเกษตร แปลงใหญ่ทุเรียน ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนได้ผ่านการตรวจประเมินเบื้องต้น ทั้ง 120 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างให้การรับรองมาตรฐานดังกล่าวจากกรมวิชาการเกษตร
“ทุเรียนเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย การอบรมให้ความรู้และการตรวจประเมินเบื้องต้นให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนแปลงใหญ่ จะส่งผลให้เกษตรกรสามารถผลิตทุเรียนที่ได้คุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตทุเรียนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และมีความสามารถในการแข่งขันทางการค้า อันเป็นการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งต่อไป” รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว