ในการพิจารณาประเด็นข้างต้นที่ประชุมฯ รับทราบ ผลการทดสอบภาวะวิกฤติ (Industry Stress test) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งพบว่า แม้ธุรกิจประกันภัยไทยจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว แต่ในภาพรวมยังคงแข็งแกร่งและมีความทนทานต่อสภาวะวิกฤติ ทั้งในสถานการณ์ V-shape และ L-shape ได้เป็นอย่างดี โดยที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาด้านการประกันภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับบริษัทประกันภัย มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับคนกลางประกันภัย และมาตรการเกี่ยวกับการดำเนินงานของ สำนักงาน คปภ. โดยล่าสุดได้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจประกันภัยในการขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากผลการทดสอบภาวะวิกฤติในส่วนของ สำนักงาน คปภ. ประกอบกับมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 รวมทั้งมาตรา 44 มาตรา 46 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของรัฐ และประชาชน ความคุ้มค่า และความประหยัด รวมทั้งจะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ทั้งต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ โดยต้องรักษาไว้ในระดับที่จำเป็น เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการเบิกจ่ายเพื่อการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการบริหารสภาพคล่องด้วย ดังนั้นการปรับลดอัตราเงินสมทบ จึงอาจไม่เป็นไปตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 และอาจขัดต่อมาตรา 44 มาตรา 46 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้
เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาวิธีการอื่นนั้น การปรับลดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัย จะเป็นประโยชน์มากกว่าและไม่กระทบต่อสภาพคล่องของ สำนักงาน คปภ. เนื่องจากเป็นมาตรการช่วยเหลือที่จะเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง คือนอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อบริษัทประกันภัยแล้ว ประชาชนที่ประสงค์จะเข้าสู่อาชีพประกันภัย ตัวแทนประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัย และนักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งจากข้อมูลสถิติในปี 2562 พบว่า มีจำนวนประชาชนสมัครสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนนายหน้าประกันภัย/ผู้ขอรับใบอนุญาตฯ/ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตฯ รวมทั้งสิ้น 680,227 ราย รวมทั้งยังสามารถลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการด้านการประกันภัย ได้แก่ นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ดังนั้นที่ประชุมฯ จึงมีมติ ดังนี้
เห็นชอบตามที่สำนักงาน คปภ. เสนอ ในการให้ปรับลดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย ลงครึ่งหนึ่งทุกรายการ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ได้แก่ ค่าธรรมเนียมสมัครสอบความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมในการขอรับใบอนุญาตของตัวแทนนายหน้าประกันภัย การขอต่ออายุใบอนุญาตของตัวแทนนายหน้าประกันภัย การขอรับใบอนุญาตเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย การขอใบแทนใบอนุญาต การขอรับรองสำเนาเอกสาร เป็นต้นเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจประกันชีวิตในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. ….เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจประกันวินาศภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. ….
ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ สำนักงาน คปภ. ติดตามผลกระทบของภาคธุรกิจประกันภัยอย่างใกล้ชิด โดยให้มีการจัดทำการทดสอบภาวะวิกฤติเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ หากผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่า ภาคธุรกิจประกันภัยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ก็ให้รีบเสนอให้พิจารณากำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่จำเป็นเพิ่มเติมต่อไป
“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีประชาชน ภาครัฐ และเอกชนได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการที่ที่ประชุม คปภ. มีมติในครั้งนี้เป็นมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมจากหลายมาตรการที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้โดยขั้นตอนต่อไปจะต้องเสนอเรื่องไปที่กระทรวงการคลัง เนื่องจากตามกฎหมาย การกำหนดค่าธรรมเนียมเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องโดยใกล้ชิด และจะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชน และเยียวยาภาคธุรกิจประกันภัยที่ได้รับผลกระทบ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย