รศ.ดร.นรเศรษฐ์ ณ สงขลา หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้างผลงานวิจัยและบุคลากรมากว่า 22 ปี เปิดสอนเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย มาตั้งแต่ 2541 จนถึงปัจจุบัน สำหรับหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) เริ่มเปิดในปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ที่โลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรร่วมระหว่าง 2 สถาบันชั้นนำของไทยและสหราชอาณาจักร คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีประสบการณ์ด้านงานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีกว่า 22 ปี กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ (University of Strathclyde) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านการออกแบบและผลิตนวัตกรรม หลักสูตรนี้มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและการ พัฒนาประเทศ สู่ไทยแลนด์ 4.0 เพิ่มบุคลากรและงานวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ระดับโลก เป้าหมายของหลักสูตรมุ่งให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ สามารถจัดการกับปัญหาทั้งทางด้านวิศวกรรมและทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและประชาคมระหว่างประเทศได้ โดยหลักสูตรปริญญาตรี วิศวกรรมชีวการแพทย์นี้จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ประเทศสหราชอาณาจักร เป็นเวลา 2 ปี
ผู้เรียนจะได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 Active Learning การคิดวิเคราะห์ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการทำโครงการและงานวิจัยร่วมกันระหว่าง 2 สถาบัน ซึ่งต่างมีลักษณะที่โดดเด่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ได้แก่ มีความหลากหลายทางด้านโครงงานและงานวิจัย, มีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับสถาบันทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียง, มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับผู้ประกอบการและธุรกิจ, ตลอดจนประสบการณ์ในความสำเร็จและประวัติศาสตร์อันยาวนานของหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา เสริมสร้างนักศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถในการสร้างงานวิจัยที่สามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการและรองรับภาคอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของโลกที่กำลังเติบโตและเป็นที่ต้องการในตลาดโลก นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพพร้อมไปกับพัฒนาวิศวกรรมชีวการแพทย์สู่เป้าหมายร่วมกัน