นักวิชาการจีนศึกษา ธรรมศาสตร์ ชี้ปัจจัยที่ทำให้จีนฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ยึดหลักความเคร่งครัดและรวดเร็ว ผ่าน 3 มาตรการระดับชาติ-ท้องถิ่น-ชุมชน

พฤหัส ๐๗ พฤษภาคม ๒๐๒๐ ๑๓:๔๒
นักวิชาการจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (พีบีไอซี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยจีนใช้เน้นความเข้มงวดและความรวดเร็วในการแก้ไขวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศรับสิทธิรับเงินคืนเมื่อใช้ผ่านโมบายเพย์ มอบสิทธิพิเศษด้านภาษีและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหวังช่วยฟื้นฟูภาคเอกชน พร้อมแนะประเทศไทยควรนำหลักการดังกล่าวมาปรับประยุกต์ใช้ เน้นไปที่ความรวดเร็วและเด็ดขาดในการออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ดร.เกียรติศักดิ์ ฟงปรีชากุล หัวหน้าหลักสูตรจีนศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ. (พีบีไอซี) กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ประเทศจีนสามารถฟื้นตัวจากจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้นั้น มาจากระบบการปกครองของประเทศจีนที่รัฐบาลกลางมีอำนาจสูงสุดในการที่จะสั่งการได้อย่างเด็ดขาด และรวดเร็วในการออกมาตรการและนโยบายในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ประกอบกับข้อกฎหมายที่มีบทลงโทษขั้นรุนแรงในกรณีที่หากประชาชนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งจะเห็นได้จากมาตรการต่างๆ ที่ออกมานั้น จะมีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับมณฑล และระดับพื้นที่ เช่น มีการควบคุมการเข้า-ออกในแต่ละชุมชนอย่างเข้มงวด ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีการประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 10 ล้านคน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่ได้ผลภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชากรของจีนให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมีความรวดเร็วในการสั่งการเพื่อระดมบุคคลากรที่มีความรู้และความสามารถ รวมถึงการรวบรวมเวชภัณฑ์และเครื่องมือต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำมารักษาผู้ติดเชื้อไวรัส เช่นการระดมบุคลากรทางการแพทย์กว่า 10,000 คนให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในเมืองอู่ฮั่นภายในเวลา 1 สัปดาห์ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด

“ด้านนโยบายการเติบโตทางเศรษฐกิจ จีนจะยังคงอัตราการเติบโตอย่างมั่นคง เนื่องจากจีนมีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจอยู่ก่อนแล้ว ประกอบกับระยะเวลาในการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจีนสามารถควบคุมได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ยังรวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ โดยเฉพาะการคืนเงินให้กับผู้ที่ออกมาจับจ่ายใช้สอยผ่านทางโมบายเพย์ อาทิ อาลิเพย์ และวีแชทเพย์ ฯลฯ โดยไม่จำกัดวงเงินต่อหัว แต่จะเป็นการตั้งงบก้อนโตเอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการสนับสนุนภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี หรือให้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งนับว่าเป็นมาตรการที่สามารถกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศได้เป็นอย่างดี” ดร.เกียรติศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ การที่จีนส่งทีมแพทย์พร้อมเวชภัณฑ์เข้าไปช่วยเหลือในประเทศต่างๆ ที่เกิดการแพร่ระบาด อาทิ อิตาลี อิหร่าน ประเทศในกลุ่มแอฟริกา และประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย ทำให้จีนสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการพัฒนาด้านการแพทย์ โดยเฉพาะในเรื่องของวัคซีนรักษาไวรัสโควิด-19 หรือ “แคร์รีมัยซิน” ที่อยู่ระหว่างการวิจัยในขณะนี้ รวมถึงยารักษาโรคต่างๆ โดยอาศัยคำ หรือ วลี ที่ว่า “ชุมชนแห่งชะตากรรมร่วมกันของมวลมนุษยชน” ซึ่งมีความหมายว่า ไม่ว่าจะมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้น ทุกประเทศทั่วโลกล้วนเกี่ยวข้องกัน ต้องช่วยเหลือกัน ทิ้งกันไม่ได้ เพื่อให้ชาวโลกได้เห็นว่าจีนเป็นมิตรกับทุกๆ ประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและทางด้านการแพทย์ ฯลฯ

ดร.เกียรติศักดิ์ ยังวิเคราะห์ถึงเศรษฐกิจของจีนหลังจากผ่านวิกฤตไวรัสโควิด-19 ว่า จีนจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์สินค้าของตัวเอง เพราะที่ผ่านมามีกระแสว่าสินค้าที่ถูกส่งมาจากจีนยังมีเชื้อไวรัสโควิด-19 ติดมากับสินค้า ซึ่งจีนจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้าเป็นการเร่งด่วน ควบคู่กับกระตุ้นภาคการส่งออกของจีน และปรับลดค่าเงินหยวน เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางด้านการค้า พร้อมทั้งส่งเสริมและรณรงค์ให้ประชากรเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ และหันมาใช้จ่ายภายในประเทศให้มากขึ้นในระยะแรก รวมถึงสนับสนุนภาคการลงทุนต่างๆ ด้วยการมอบสิทธิพิเศษต่างๆ กับนักลงทุนชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษีเป็นกรณีพิเศษ นอกจากนี้ จีนจะถือโอกาสนี้แสดงสปิริตของความเป็นประเทศมหาอำนาจในการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่ผ่านพ้นวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 ด้วยการซื้อสินค้า หรือเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของโลก เพื่อให้สอดคล้องกับวลีที่จีนกล่าว คือทุกประเทศล้วนเป็น “ชุมชนแห่งชะตากรรมร่วมกัน”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดจนการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต คือ ความเด็ดขาดและความรวดเร็วในเรื่องของการออกมาตรการและนโยบายต่างๆ ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโดยเฉพาะในเรื่องของคำสั่งการจะต้องมีความศักดิ์สิทธิ์การประสานงานจะต้องไม่เกิดความสับสนหรือควรมีศูนย์รวมอำนาจในการสั่งการ และที่สำคัญประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำสั่งของภาครัฐอย่างเคร่งครัด ดร.เกียรติศักดิ์ กล่าวสรุป

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.pbic.tu.ac.th หรือเฟซบุ๊ก facebook.com/PBIC.TU

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย