“เมื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ การขายออนไลน์เติบโตขึ้น ธุรกิจต่างๆ ที่เปิดตามห้างสรรพสินค้า ตลาด หรือผู้ประกอบการ SME สตาร์ทอัพต้องปรับตัวเองมาลงเล่นออนไลน์ ใช้เทคโนโลยี โซเซียลมีเดียเข้ามาช่วยในการทำตลาดออนไลน์ เป็นสมาร์ทซัพพลายเชน คือ ร้านค้า การขนส่ง และผู้บริโภค เพราะแม้รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการ เปิดร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ แต่เป็นการเปิดภายใต้ชีวิตวิถีใหม่(new normal) ที่ทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น ร้านอาหาร 1 โต๊ะนั่งได้ 1 คน หรือต้องล้างมือ วัดอุณหภูมิ สวมหน้ากาก สิ่งเหล่านี้เป็นการปฏิบัติตนที่ดี แต่คนไทยชอบมีปฎิสัมพันธ์ ดังนั้นอาจมองว่าสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ง่ายกว่า ธุรกิจจึงต้องเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นแนวดิจิตอลมากขึ้น”คณบดีCIBA กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม ผู้ประกอบการสินค้าการเกษตรควรใช้โอกาสนี้ นำสินค้าการเกษตรของตนเองขายผ่านโซเซียลมีเดียหรือออนไลน์มากขึ้น ทั้งยังทำให้ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เพราะเกษตรกรสามารถขายออนไลน์ไปยังผู้ซื้อได้ทันที
ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวต่อว่า สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีหรือธุรกิจอื่นๆ รวมถึงร้านค้าร้านอาหารต้องปรับตัวเอง โดยทำโฆษณาออนไลน์ ทำการตลาดสมัยใหม่และที่สำคัญต้องเป็นสินค้าคุณภาพ ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์สินค้าแบบใหม่ เช่น การคอมเมนต์แสดงความคิดเห็น การรีวิว ใช้บล็อกเกอร์เข้ามาสนับสนุนซึ่งมีอิทธิพลกับผู้ซื้ออย่างมาก เพราะการมีสินค้าคุณภาพทำให้ครองใจลูกค้าได้นาน ส่วนร้านค้าที่มีหน้าร้าน โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าใหญ่ต้องยกห้างมาอยู่บนออนไลน์และในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ต้องมีการนำเทคโนโลยี 3 มิติ 4 มิติ มาใช้บนโลกออนไลน์ ทำให้เห็นรูปทรงสินค้า เป็นภาพเสมือนจับต้องได้ และมีโมเดลที่เป็นตัวคนเพื่อให้ความรู้สึกเหมือนได้สัมผัสหรือได้ทดลองสินค้าจริง และอาจจะใช้วิธีการขายสินค้าอิสระเช่นเดียวกับแม่ค้าพ่อค้าในออนไลน์ ที่ใช้เทคนิคการพูดมาดึงดูดผู้ขาย
“การทำธุรกิจหลังการผ่อนคลายมาตรการในยุคโควิด-19 ผู้ประกอบการต้องมีการเพิ่มทักษะเทคนิคการขายออนไลน์ให้มากขึ้น ต้องเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ของคนซื้อ ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่จะติดใจการพูด และต้องมีความรู้สึกว่าสินค้าเหล่านั้นจับต้องได้ ทำให้ผู้ขายมีการทดลองใส่สินค้าต่างๆ ซึ่งจะทำให้สินค้ายั่งยืนและผู้บริโภคเกิดความจงรักภักดีต่อสินค้าซื้ออย่างต่อเนื่อง ต้องมีการนำเสนอสินค้า มีทักษะการสื่อสาร และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เพื่อโปรโมทสินค้าให้เข้าถึง เห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนทุกมุมมอง จึงอยากฝากผู้ประกอบการทุกคน อย่ามองว่าสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ เป็นวิกฤตหรือท้อแท้ต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ขอให้มองหาโอกาสในการเรียนรู้ การทำงาน เพิ่มเติมทักษะ และขยายธุรกิจของตนเอง” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว