'INET’ จับมือ 'IBM’ นำ AI ช่วยตรวจหาวัณโรคจากภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกในโรงพยาบาล 75 แห่งทั่วไทย

จันทร์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๒๐ ๐๙:๐๙
บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (INET) และไอบีเอ็ม ประกาศถึงการนำเทคโนโลยี IBM Visual Insights ซึ่งเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์ภาพนิ่งและไฟล์วิดีโอ ร่วมด้วยระบบเซิร์ฟเวอร์ IBM Power Systems AC922 ซึ่งเป็นระบบประมวลผลสมรรถนะสูง และนวัตกรรมมาตรฐานสากลที่พัฒนาโดยคนไทยโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิชัน (computer vision) ในการแปลผลภาพเอ็กซเรย์ เข้าช่วยรังสีแพทย์ในการตรวจหาวัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) จากภาพเอ็กซเรย์ทรวงอก ปัจุบัน?มีการใช้แอพพลิเคชัน CXR Screening นี้แล้วในสถานพยาบาลชุมชนและทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ถึง 75 แห่งทั่วประเทศ โดยแอพพลิเคชันจะแจ้งให้ทราบทันทีที่พบลักษณะที่เข้าข่ายวัณโรค ช่วยให้ผู้ป่วยนับพันรายสามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที วัณโรคคือหนึ่งในโรคติดต่อที่เป็นภัยร้ายต่อสุขภาพมนุษย์ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) พบว่าวัณโรคติดอันดับ 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิต โดยในแต่ละปีมีผู้ป่วยเป็นวัณโรคถึงประมาณ 10 ล้านคน และคาดว่ามีประชากรทั่วโลกถึง 1 ใน 4 ที่ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวัณโรคมากที่สุด โดยมีจำนวนผู้ป่วยใหม่และผู้ที่กลับมาเป็นซ้ำถึง 108,000 รายต่อปี [1] อย่างไรก็ตาม วัณโรคเป็นโรคที่ควบคุมและรักษาได้หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าวมากขึ้น ควบคู่ไปกับการตรวจหา วินิจฉัย และรักษาที่ทันท่วงที

หนึ่งในปัญหาท้าทายที่สำคัญที่สุดในการติดตามการติดเชื้อในประเทศไทยคือระบบรายงาน แม้ว่าการเอ็กซเรย์ทรวงอกจะเป็นหนึ่งในวิธีการตรวจที่มีการใช้มากที่สุดทั่วโลก แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังคงประสบปัญหาขาดแคลนรังสีแพทย์ ทำให้โรงพยาบาลขนาดเล็กหลายแห่งต้องส่งภาพเอ็กซเรย์ไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่าเพื่อแปลผลภาพเอ็กซเรย์ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยในชนบทและพื้นที่ห่างไกลต้องรอผลการวินิจฉัยนานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนกว่าจะได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้ การขาดแคลนรังสีแพทย์ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ยังส่งผลต่อความแม่นยำและความละเอียดในการตรวจหาอาการที่เกี่ยวข้องและการวินิจฉัยผู้ป่วย

การนำแอพพลิเคชัน CRX Screening เข้ามาใช้ ทำให้โรงพยาบาลสามารถวินิจฉัยวัณโรคได้แบบเรียลไทม์และมีความถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ประสบปัญหาขาดแคลนรังสีแพทย์และทรัพยากรอื่นๆ

“ในฐานะ Cloud Solution Provider ที่ครบวงจรที่สุดของไทย ไอเน็ตมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีอันเป็นนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ความสามารถในการทำงาน และประสิทธิภาพของธุรกิจต่างๆ ในประเทศของเรา” นางมรกต กุลธรรมโยธิน กรรมการผู้จัดการของไอเน็ต กล่าว

“การนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ร่วมกันระหว่างไอเน็ตและไอบีเอ็ม เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีร่วมกับรังสีแพทย์ แพทย์สาขาต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ แสดงให้เห็นถึงการทลายข้อจำกัดเพื่อก้าวเข้าสู่มิติใหม่ของการดูแลสุขภาพที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ในที่สุด”

หลังจากที่มีการฝึกสอนระบบเอไอโดยรังสีแพทย์และแพทย์สาขาต่างๆ ด้วยภาพกว่า 40,000 ภาพจากโรงพยาบาล และโมเดลภาพถ่ายรังสีทรวงอก พบว่าแอพพลิเคชัน CXR Screening ที่พัฒนาโดยไอเน็ต สามารถตรวจพบวัณโรคด้วยอัตราความแม่นยำสูงถึง 96% การใช้ IBM Visual Insights ซึ่งเป็นโซลูชันด้านการรู้จำภาพ (visual recognition) ที่ทำงานบนระบบ IBM Power Systems ทำให้ไอเน็ตสามารถสร้างโมเดลภาพ จากนั้นจึงจำแนกประเภทวัตถุที่ตรวจพบในภาพเอ็กซเรย์ทรวงอก โดยที่ไม่ต้องมีการเขียนโค้ดหรืออาศัยความเชี่ยวชาญด้าน deep learning แต่อย่างใด

ความปลอดภัยของ IBM Systems รวมถึงการผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 27017 และ ISO 27799 ของระบบ Storage และคลาวด์สำหรับงานด้านเฮลธ์แคร์โดยเฉพาะ พร้อมการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ในดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศ ยังช่วยให้ผู้ใช้บริการมั่นใจได้ว่าข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยหรือผู้สงสัยว่าจะป่วยจะได้รับการปกป้อง ควบคุมความปลอดภัย และป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญคนไทยที่คอยให้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

“เรามีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับไอเน็ต เพื่อนำเทคโนโลยี AI vision หรือการใช้เอไอในการวิเคราะห์ภาพและไฟล์วิดีโอที่ก้าวล้ำ ร่วมกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงและแพลตฟอร์มระดับโลกที่มีความปลอดภัย เข้าสนับสนุนรังสีแพทย์และแพทย์สาขาต่างๆ และช่วยให้ผู้ป่วยวัณโรคในโรงพยาบาลทั่วประเทศไทยได้รับการตรวจวินิจฉัยที่มีคุณภาพ พร้อมรับการรักษาอย่างทันท่วงที”

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว “เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวงการเฮลธ์แคร์ของไทยกำลังเดินหน้าและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศและระดับสากล”

วันนี้รังสีแพทย์สามารถอัพโหลดภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกเข้ามาที่แอพพลิเคชัน CXR Screening ซึ่งจะแปลเป็นผลลัพธ์ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที พร้อมด้วยเปอร์เซ็นต์แสดงระดับความมั่นใจ โดยเทคโนโลยีนี้ช่วยให้แพทย์สามารถโฟกัสไปที่กลุ่มผู้มีโอกาสเป็นวัณโรคมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาด้วยแนวทางที่มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที ปัจจุบันมีการขยายการใช้แอพพลิเคชัน CXR Screening ที่ใช้เอไอนี้ ในการตรวจหาอาการอื่นๆ จากภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกอีก 14 อาการ เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และภาวะปอดรั่ว โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยหลายพันคนในโรงพยาบาล 300 แห่งทั่วประเทศที่ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์เกี่ยวกับการวินิจฉัยและรักษาโรคทรวงอกอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย