มกอช. เล็งเห็นถึงศักยภาพ และความเป็นไปได้ของตลาดแมลงเพื่อการบริโภค จึงเร่งส่งเสริม ผลักดันการเปิดและขยายตลาด การส่งออกสินค้าแมลงจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเป้าการเปิดตลาดไปยังสหภาพยุโรป และประเทศเม็กซิโกซึ่งเป็นตลาดใหม่ ซึ่งปัจจุบัน มกอช. ร่วมกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินไปแล้ว ในการผลักดันแก้ไขพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ เพื่อเพิ่มเติมจิ้งหรีดในนิยามการกำกับควบคุมของกฎหมาย เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยอาหารสำหรับผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด
รวมทั้ง จัดทำข้อมูลกฎหมายว่าด้วยด่านนำเข้า (Official Control) หากผ่านการพิจารณาเตรียมประกาศอนุญาตอย่างเป็นทางการใน Official Journal (ราชกิจจานุเบกษา) ของสหภาพยุโรป ภายในปี 2563 อาจส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดไปยังสหภาพยุโรปได้ และกฎหมายว่าด้วยการขึ้นทะเบียนอาหารใหม่ (Novel Food) ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2563 และใช้เวลาพิจารณาในคณะกรรมการเฉพาะกิจของสหภาพยุโรปอีกไม่เกิน 1 ปี
นอกจากนี้ ประเทศเม็กซิโก ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ มกอช. จึงร่วมกับกรมปศุสัตว์ เร่งดำเนินการขอเปิดตลาดรายการสินค้าผงแป้งจิ้งหรีดและจิ้งหรีดแช่แข็ง(สะดิ้ง) ของไทยในเม็กซิโก กับสำนักงานแห่งชาติด้านสุขอนามัยความปลอดภัย และคุณภาพของการเกษตรและอาหารของเม็กซิโก หรือ SENASICA แล้วเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ขณะนี้อยู่ในระหว่างรอการพิจารณาและการตอบกลับจากทางเม็กซิโก
“อย่างไรก็ตาม นอกจากการเร่งผลักดันการเจรจาเพื่อเปิดตลาดสินค้าจิ้งหรีดกับสหภาพยุโรปและเม็กซิโก ในรายการสินค้าผงแป้งจิ้งหรีดและจิ้งหรีดแช่แข็งให้สำเร็จแล้ว มกอช.ยังมีแนวทางที่จะผลักดันและส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรให้สามารถผลิตจิ้งหรีดที่ได้มาตรฐานปลอดภัยตรงตามความต้องการของตลาดและมุ่งสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแมลงเพื่อการบริโภคของไทย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งส่งเสริมขยายของเขตการดำเนินงานสู่ตลาดที่มีศักยภาพอื่น ๆ ผ่านการแสดง roadshow แสดงสินค้า การประชาสัมพันธ์ รวมถึงพิจารณาดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับแมลงที่มีศักยภาพอื่น ๆ เช่น ดักแด้ตัวไหมเพื่อการบริโภคแมลง black soldier fly เพื่อเป็นอาหารสัตว์อีกด้วย”
นายครรชิต ยังกล่าวต่อว่า มกอช.ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี(GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ส่งเสริมให้เกษตรกรไทยหันมาเลี้ยงจิ้งหรีด ทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง ซึ่งมีกำลังการผลิตจิ้งหรีดรวมมากกว่า 7,000 ตันต่อปี และสามารถป้อนตลาดภายในและต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงหลังการทำนาหรือในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพและมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงแมลงในเชิงพาณิชย์ เช่น จิ้งหรีด เพราะเป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่และน้ำน้อยในการเลี้ยง ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีและต้นทุนในการเลี้ยงไม่สูง จึงเหมาะสมกับพื้นที่แห้งแล้งหรือพื้นที่ชนบท
โดยที่ผ่านมา มกอช. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมความรู้ทางเทคนิคให้แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) คู่มือการตรวจประเมิน ขั้นตอนการยื่นขอการรับรอง การจัดทำคู่มือปฏิบัติงานประจำฟาร์ม และการจดบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์มฯ เพื่อให้เกษตรกรมีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดจากกรมปศุสัตว์ได้ โดย มกอช. มีแผนดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สุโขทัย พิษณุโลก บุรีรัมย์ และขอนแก่น นายครรชิต รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว