บ้านปู เพาเวอร์ฯ ไตรมาสที่ 1/2563 มีกำไรเติบโตขึ้นจากโรงไฟฟ้าทุกแห่ง เดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าตามแผน พร้อมมาตรการรับมือโควิด-19

พุธ ๑๓ พฤษภาคม ๒๐๒๐ ๑๕:๐๙
- โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและโรงไฟฟ้าหงสาจ่ายไฟเต็มประสิทธิภาพที่ 100% และ 91% ตามลำดับ

- เตรียม COD เพิ่ม 424 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้าในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม

- เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Sunseap เป็น 48.6% ดันกำลังผลิตจากพอร์ตพลังงานสะอาด

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า

จากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2563 มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 1,775 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เนื่องมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและโรงไฟฟ้าหงสา ซึ่งมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ถึงร้อยละ 100 และร้อยละ 91 ตามลำดับ โดยสามารถเดินเครื่องเพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม กำลังผลิตรวม 424 เมกะวัตต์ คืบหน้าตามแผน ด้วยระบบการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) ที่มีประสิทธิภาพ สะท้อนถึงความสามารถในการพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่ปกติและความยืดหยุ่นในการบริหารงานแม้ในสภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ การเข้าถือหุ้นใน Sunseap Group Pte. Ltd. (Sunseap) ผ่านบ้านปู เน็กซ์ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.6 ยังช่วยขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานสะอาดในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน และตอกย้ำความมุ่งมั่นของบ้านปู เพาเวอร์ฯ ในการขยายการเติบโตให้ถึงเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยมี

พลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

นายกิรณ ลิมปพยอม ซึ่งได้เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา กล่าวว่า “โรงไฟฟ้าทุกแห่งของบ้านปู เพาเวอร์ฯ ยังสามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ในสภาวะของการเกิดโควิด-19 บริษัทฯ ได้มีการบริหารจัดการทั้งแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจและการบริหารการเงินเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยดำเนินมาตรการป้องกันต่างๆ อย่างเคร่งครัดตามแนวทางที่รัฐบาลในแต่ละประเทศกำหนด มีการบริหารต้นทุนอย่างรัดกุม มุ่งเน้นการรักษาประสิทธิภาพและเสถียรภาพของทุกๆ โรงไฟฟ้า และความสามารถในการรักษาสถานะทางการเงินไว้เป็นอย่างดี ทำให้ผลประกอบการทั้งในส่วนของพอร์ตพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ประเทศจีนรายงานผลกำไรที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปริมาณความต้องการ

ใช้ไฟฟ้าและไอน้ำในช่วงฤดูหนาว โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งได้ผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าและไอน้ำ เพื่อตอบสนองความต้องการแก่ชุมชน รวมถึงลูกค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มที่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการรักษาโรคในช่วงที่เกิดการระบาดในประเทศ นอกจากนี้ การลงทุนใน บ้านปู เน็กซ์ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนแล้ว ถือเป็นการเพิ่มโอกาสการเติบโตโดยเฉพาะด้านธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานอย่างครบวงจร”

สำหรับไตรมาส 1/2563 บ้านปู เพาเวอร์ฯ มีรายได้รวม 1,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสที่แล้ว ประกอบด้วยรายได้จากการขายไฟฟ้าในจีน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ทั้ง 3 แห่ง จำนวน 1,626 ล้านบาท โดยมีการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำรวมทั้งน้ำร้อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และร้อยละ 25 ตามลำดับเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อีกส่วนหนึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 7 แห่ง จำนวน 89 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนผลการดำเนินงานเพียง 2 เดือน ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นการรายงานในรูปแบบส่วนแบ่งกำไรภายหลังการปรับโครงสร้างการลงทุนเสร็จสิ้นต้นเดือนมีนาคม 2563 และรายได้จากธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า หรือ Energy Trading ในญี่ปุ่นจำนวน 128 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจร่วมค้าจำนวน 1,104 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ส่วนหลักมาจากโรงไฟฟ้าหงสาที่รายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 1,122 ล้านบาท (รวมผลกำไรจากการแปลงค่าเงินแล้วจำนวน 151 ล้านบาท) ส่วนโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีรายงานส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 200 ล้านบาท (ยังไม่รวมผลขาดทุนจากภาษีเงินได้รอตัดบัญชีจำนวน 243 ล้านบาท และผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงินจำนวน 26 ล้านบาท) ดังนั้นจึงรายงานส่วนแบ่งขาดทุนจำนวน 70 ล้านบาท นอกจากนั้น ธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน ภายใต้การดำเนินงานของบ้านปู เน็กซ์ รายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 32 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลการดำเนินงาน

เดือนมีนาคมเพียง 1 เดือน

ณ ปัจจุบัน บ้านปู เพาเวอร์ฯ มีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 33 แห่ง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) แล้ว 24 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 9 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,784 เมกะวัตต์เทียบเท่า คิดเป็นกำลังผลิตที่ COD แล้ว 2,250 เมกะวัตต์เทียบเท่า (รวมส่วนแบ่งกำลังผลิตจากการปรับโครงสร้างการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์) บริษัทฯ เดินหน้าการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang) ในจีน กำลังผลิต 396 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น ยามางาตะ (Yamagata) 20 เมกะวัตต์ และยาบูกิ (Yabuki) 7 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ระยะที่ 1 ในเวียดนาม 30 เมกะวัตต์ ตามแผน โดยคาดว่าจะทยอย COD ในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไป บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมและมาตรการในการรับมืออย่างฉับไวและจำกัดผลกระทบให้เกิดน้อยที่สุด เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าเดินหน้าพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

“เพื่อไปถึงเป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 บริษัทฯ มุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง เดินหน้าพัฒนาและก่อสร้างโครงการต่างๆ ให้สามารถ COD ได้ตามแผน และมุ่งหน้าแสวงหาโอกาสในการลงทุนทั้งในประเทศที่ดำเนินธุรกิจอยู่และประเทศที่มีศักยภาพตามกลยุทธ์ Greener & Smarter อย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ ได้ติดตามสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิด และได้เตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้านเพื่อปรับตัวให้ทันกับกระแสของความปกติใหม่ (New Normal) ที่กำลังเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันกับวิถีชีวิตและการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าทุกแห่งสามารถเดินเครื่องผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างราบรื่นและเต็มกำลัง อีกทั้งยังมุ่งขยายการเติบโตในพอร์ตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานเพื่อเสริมธุรกิจผลิตไฟฟ้าให้แข็งแกร่งและสอดรับกับกระแสพลังงานแห่งโลกอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ความชำนาญในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า และการผนึกพลังร่วมกับกลุ่มบ้านปูฯ จะทำให้บ้านปู เพาเวอร์ฯ ก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มมูลค่าและรักษาสมดุลระหว่างกระแสเงินสดและผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social and Governance: ESG)” นายกิรณ กล่าวปิดท้าย

เกี่ยวกับบ้านปู เพาเวอร์

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา บ้านปู เพาเวอร์ฯ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยเป้าหมายขยายกำลังการผลิตให้ได้ถึง 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 สำหรับสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 49,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 673 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย