นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม ความเป็นอยู่ รวมไปถึงการจัดการศึกษาของประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักถึงความสำคัญโดยคำนึงถึงมาตรการที่รัฐกำหนด คือ การเพิ่มระยะห่างระหว่างกันในสังคม หรือ Social distance ซึ่งการศึกษาในหลายๆ ประเทศ มีการนำระบบการเรียนการสอนออนไลน์เข้ามาปรับใช้ เพื่อดำเนินการเรียนการสอนต่อไปภายใต้วิกฤตโรคระบาดนี้ ทั้งการสอนสดที่นักเรียนนักศึกษาสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนได้ทันที คือเห็นหน้าเห็นตาโต้ตอบสอบถามคุยกันได้ และการสอนแบบวิดีโอที่ผู้สอนสามารถอัดล่วงหน้าและผู้เรียนสามารถมาติดตามภายหลังสำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์แบบสด ระบบการเก็บคะแนนและตัดเกรดจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงลดสัดส่วนของคะแนนจากงานกลุ่มที่มีความจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกันหรือทำร่วมกันได้ผ่านทางออนไลน์ด้วยเครื่องมือทันสมัยต่าง ๆ เป็นต้น นี้คือสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ เล็งเห็นว่า รูปแบบการเรียนการสอนเหล่านี้จะต้องได้รับการนำมาใช้ในการจัดการศึกษาของประเทศ โดยจะต้องมีความเหมาะสมกับบริบทของผู้เรียน มีความหลากหลาย เข้าถึงได้ง่าย และที่สำคัญต้องไม่กระทบภาวะทางเศรษฐกิจและการเงินของครอบครัว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายในการนำการเรียนการสอนรูปแบบการศึกษาทางไกล และการศึกษาออนไลน์ มาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษา และทดแทนการเรียนในห้องเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเน้นย้ำในการสร้างระบบที่มีความยั่งยืนเพื่อให้เกิดการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่ต่อเนื่องและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนในทุกระดับชั้นผ่านช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย และส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ได้มากขึ้น โดยความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ตามแนวคิด การเรียนรู้นำการศึกษา “โรงเรียนอาจหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้” คือ ต้องจัดการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ แม้จะไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด การตัดสินใจนโยบายต่าง ๆ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความต้องการ ตลอดจนการปรับปฏิทินการศึกษาให้เอื้อต่อการ “เรียนเพื่อรู้” ของผู้เรียนมากขึ้น รวมไปถึงบุคลากรทางการศึกษา จะต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง สำหรับการจัดการอาชีวศึกษาก็เช่นกัน ต้องไม่หยุดนิ่งต่อการพัฒนานักเรียน นักศึกษา เพราะเมื่อเราผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าว กำลังคนของอาชีวศึกษาจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ก้าวหน้า ซึ่งนอกจากทักษะทางวิชาชีพแล้ว การพัฒนาทักษะทางภาษาก็สำคัญยิ่งต่อการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมต่างประเทศในประเทศไทย การเพิ่มช่องทางในการพัฒนาและเรียนรู้ทักษะมาตรฐานนานาชาติได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนมีเงื่อนไขของการใช้ภาษาต่างประเทศเป็นสำคัญ จึงเชื่อมั่นว่าการลงนามในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต กระทรวงศึกษาธิการพร้อมที่จะผลักดันในทุกกิจกรรมทางการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษาในทุกๆด้าน และพร้อมเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป
นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการปรับรูปแบบการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งรูปแบบของการศึกษาทางไกล และการศึกษาออนไลน์ เพื่อช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษา และทดแทนการเรียนในห้องเรียน ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหาร เพื่อหาแนวทางและรูปแบบที่จะใช้ในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา โดยในปีการศึกษา 2563 สำหรับผู้เรียนทุกระดับ ทั้งระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ดังนี้ จัดการเรียนผ่านเอกสารตำราเรียนโดยให้ครูทำการสอนผ่านเอกสาร ตำราเรียน หนังสือเรียน และเอกสารต่าง ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐาน (Basic) ทั้งนี้
การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน อาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่มีจำนวนคนไม่มาก สลับกันมาเรียน หรือใช้ช่องทางสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ Line ข้อความผ่านเครือข่ายออนไลน์ เป็นต้น และจัดการเรียนด้วยระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ถือเป็นการจัดการศึกษาแบบสากล เนื่องจากปัจจุบันผู้เรียนสามารถเข้าถึงช่องทางโทรทัศน์ได้มากกว่า 90% รวมทั้งจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรมฟรีที่ให้บริการ ซึ่งสถานศึกษาอาชีวะหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชน มีระบบและบทเรียนการสอนออนไลน์ที่พร้อมใช้อยู่บ้างแล้ว ก็สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ทันที ตลอดจนจัดการเรียนผ่านการสอนสด (Live) ซึ่งที่ผ่านมาอาชีวะยังขาดแคลนครูหลายสาขา เช่น สาขาช่างอากาศยาน ซึ่งต้องจ้างวิทยากรภายนอกมาสอน ดังนั้น จึงจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์โดยถ่ายทอดการสอนของครูและวิทยากรชั้นนำในสาขาที่ขาดแคลน เพื่อให้ผู้เรียนจากวิทยาลัยอื่นได้เรียนไปพร้อมกัน
สำหรับการส่งเสริมการศึกษาของผู้เรียนระหว่างช่วงปิดเทอม สอศ.ได้เตรียมเนื้อหาพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียนทุกคนฟรีผ่านระบบออนไลน์ 3 ทักษะที่สำคัญ ได้แก่ ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะภาษาจีน และทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และในปัจจุบันมีสถานศึกษาหลายแห่งที่มีการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน และนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ได้รับโอกาสที่ดีเป็นอย่างยิ่งในการได้ทุนการศึกษา ได้ร่วมการแลกเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนรู้ ตลอดจนการฝึกทักษะอาชีพกับสถานประกอบการ สอศ. จะใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มีขีดความสามารถด้านภาษาให้มากขึ้น เพื่อพร้อมในการเข้าสู่อาชีพในอนาคต และเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือในวันนี้ จึงเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาในช่วงภาวะการณ์ในปัจจุบัน และจะขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
มร.หลี่ จินซง (Mr.Li Jinsong) ประธานบริษัท ถัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด กล่าวเสริมว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนและวัฒนธรรมจีน และสามารถนำไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วยการนำเสนอนโยบายในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน การนำเสนอรูปแบบและความสำเร็จที่ผ่านมาของการเรียนภาษาจีนออนไลน์ การวางแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานความร่วมมือไทยตลอดจน จีนการจัดนิทรรศการการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในรูปแบบของการศึกษาออนไลน์พร้อมกับการสาธิตการใช้งานในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาผู้เรียน สำหรับการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มีกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือ ได้แก่ การร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียน การสอนภาษาจีนและวัฒนธรรมจีน การพัฒนาครูสอนภาษาจีน สนับสนุนการเรียนการสอนภาษาจีนและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อใช้ในสถานศึกษา ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานในการพัฒนาอาชีวศึกษาของสถาบันการศึกษาไทย – จีน มีระยะเวลาข้อตกลง 3 ปี ทั้งนี้ ในปี 2563บริษัทถังจะมอบแพลตฟอร์มการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนออนไลน์ รวม 100,000 บัญชี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับสอศ. เป็นระยะเวลา3 เดือน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึง 31 กรกฎาคม 2563 และจัดอบรมครูผู้สอนภาษาจีนของสอศ. ตลอดจนติดตั้งระบบคลาวด์แพลตฟอร์ม เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนออนไลน์