ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH เปิดเผยถึง ผลประกอบการของบริษัทฯ ในงวดไตรมาส 1/2563 (สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2563) มีรายได้รวม 424.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 37.72 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.74 โดยรายได้หลักจากการรักษาคนไข้ทั่วไปเติบโตขึ้นร้อยละ 5.78% มาจากคนไข้นอก เติบโตขึ้นร้อยละ 12.19% และคนไข้ในลดลดร้อยละ 4.02% ขณะที่รายได้จากการรักษาพยาบาลโครงการประกันสังคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.30%
โดยรายได้หลักจากการรักษาพยาบาลเติบโตรวมร้อยละ 10.04 โดยหลักมาจากการเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ของสำนักงานประกันสังคมในปี 2563 และการเติบโตต่อเนื่องของศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลผู้ใช้บริการบางส่วนเลื่อนการเข้าใช้บริการที่ไม่เร่งด่วนหรือจำเป็นออกไปก่อน สำหรับรายได้การให้บริการของบริษัทย่อย บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (AMARC) เติบโตขึ้นร้อยละ 12.60 เนื่องจากเป็นการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งจำเป็นและยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในภาวะโรคระบาด ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 42.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.37 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.79 จากงวดปีก่อนที่มีกำไร 35.46 ล้านบาท
“ผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ที่เข้าใช้บริการตรวจและรับการรักษาขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันทาง LPH ยังได้ปัจจัยบวกจากการที่คณะกรรมการประกันสังคมมีมติเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตนปี 2563 เป็น 3,959 บาทต่อคนต่อปี แบ่งเป็นเหมาจ่ายให้ รพ.คู่สัญญา อัตรา 2,839 บาทต่อคนต่อปี และส่วนที่เหลือเป็นบริการนอกเหนือเหมาจ่ายเปอร์เซ็นต์ ซึ่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ส่งผลดีต่อ LPH เพราะช่วยสนับสนุนภาพรวมธุรกิจอีกทางหนึ่งด้วย” ดร.อังกูร กล่าว
ขณะที่ผลประกอบการปี 2563 ทางบริษัทยังยืนเป้ารายได้เติบโต 20-25% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีรายได้ประมาณ 1.59 พันล้านบาท เนื่องจากผู้ป่วยจ่ายเงินสดมีทิศทางอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ประกอบกับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์ประกันต่างๆ ยังขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งบริษัทฯมีการบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทาง LPH ได้มีการเพิ่มความเข้มงวดทั้งในส่วนของพนักงานและการคัดกรองผู้ป่วย โดยมีการแยกโซนระหว่างผู้ป่วยทั่วไป และผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนยังมีการเปิดให้บริการตรวจไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงภายหลังการตรวจคัดกรองโรคแล้วเพิ่มเติม อีกทั้งได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการพนักงานในส่วนของออฟฟิศบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลให้ไปทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนแนวโน้มธุรกิจไตรมาส 2/2563 คาดว่าผลประกอบการจะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา เนื่องจากในเดือนเมษายน ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจำนวนผู้ป่วยที่มาใช้บริการลดลง ขณะที่สถานการณ์ในครึ่งปีหลังคาดว่าน่าจะดีขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มในอัตราที่ลดลง
อาคารจอดรถอัจฉริยะ ก่อสร้างอาคารจอดรถอัจฉริยะขนาด 200-250 คัน ใช้งบลงทุนโดยประมาณ 110 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2563 และแผนการเปิดให้บริการโรงพยาบาลตา ลาดพร้าว เป็นอาคารสูง 6 ชั้น ขนาด 6,400 ตารางเมตร งบลงทุนโดยประมาณ 200 ล้านบาท ให้บริการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับโรคตาแบบครบวงจร ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ร่วมทุนและศึกษาความเป็นไปได้โครงการ
อาคารโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์เฉพาะทางลาดพร้าว แห่งที่ 2 เป็นอาคารโรงพยาบาลขนาดประมาณ 40 เตียง ขนาด 7,400 ตารางเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 400 ล้านบาท อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นได้โครงการและพิจารณาศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง เช่น ศูนย์โรคหัวใจครบวงจร ศูนย์มะเร็ง เป็นต้น
แผนการร่วมลงทุนสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาขนาด 60 เตียง ขณะนี้อาคารอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 โดยมีความประสงค์ที่จะขยายเป็น 100 เตียง เพื่อให้บริการรักษาผู้ป่วยทั่วไป บริการตรวจสุขภาพนอกสถานที่และรองรับผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม มูลค่าโครงการโดยประมาณ 300 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างเพิ่มเติมประมาณ 1.5 ปี และสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2565 สถานที่ตั้งอยู่ใกล้ สวนอุตสหากรรมโรจนะ อ.อุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นนิคมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอยุธยา มีจำนวนโรงงานมากกว่า 200 โรงงาน แรงงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน