นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้สมาพันธ์ เอสเอ็มอีไทยเตรียมข้อมูล 3 ข้อ ได้แก่ 1. ปัญหาที่เดือดร้อนที่สุดของภาคธุรกิจของเอสเอ็มอี คืออะไร ซึ่งปัญหาที่เอสเอ็มอีเดือดร้อนที่สุดในขณะนี้ คือ การขาดสภาพคล่องอย่างหนัก 2. มีข้อเสนอแนะอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ ในระยะสั้น อย่างไรบ้าง ไม่เกิน 3 ข้อ และ 3. มาตรการที่ภาครัฐทำอยู่ มาตรการใดดีอยู่แล้ว และมาตรการใดที่น่าจะปรับให้ดีขึ้น
สำหรับคำถามข้อ 2. ทางสมาพันธ์ SME ไทย มีข้อเสนอแนะที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ ในระยะสั้น ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้เสนอไป 3 เรื่อง เพื่อต่อลมหายใจ ให้เอสเอ็มอีได้เริ่มต้นใหม่ และใส่วิตามินให้กับเอสเอ็มอี ได้แก่ เรื่องที่ 1 ต่อลมหายใจ เสริมสภาพคล่อง อย่างเร่งด่วนได้แก่ หนึ่งควรจัดสรรเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อการจ้างงาน ให้แรงงานในระบบรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือนซึ่งมีผู้ประกอบการในระบบไม่น้อยกว่า 7-8 แสนราย โดยจ่ายผ่านนายจ้าง สองผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ ด้วยการตั้งกองทุนพิเศษเพื่อเอสเอ็มอี สามลดค่าใช้จ่ายของเอสเอ็มอีด้วยระบบภาษี หรือการจัดเก็บของภาครัฐทั้งหมด ทั้งด้านสาธารณูปโภค ค่าโสหุ้ยการต่ออายุต่างๆ เช่น อย. ภาษีโรงเรือน ลดค่าน้ำ ค่าไฟ 30%
เรื่องที่ 2 เริ่มต้นใหม่ และการส่งเสริมตลาด ได้แก่ หนึ่ง การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เสนอให้ซื้อสินค้าไทย ใช้ของไทย จากเอสเอ็มอีไม่น้อย 50% ซึ่งเดิมระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้จัดซื้ออยู่แล้ว 40 % ของงบประมาณ เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้ mSME โดยปรับหลักเกณฑ์ ให้สามารถแข่งขันได้โดยซื้อจาก เอสเอ็มอีในประเทศหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ สอง ส่งเสริมการตลาดในประเทศ อยากให้พัฒนา อี-คอมเมิร์ชเพื่อเปิดตลาดทั่วประเทศให้เอสเอ็มอี สาม ตลาดชุมชน ควรปรับปรุงถนนคนเดิน ตลาดประจำอำเภอ และตลาดท้องถิ่น สี่ ตลาดต่างประเทศ อยากให้รัฐบาลพัฒนากลไกการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเรามีทูตพาณิชย์ในต่างประเทศมากมาย น่าจะใช้กลไกนี้มาช่วยผู้ประกอบการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพ รวมถึงกลไกการค้าขายชายแดนควรจะมีการผ่อยปรนให้เอสเอ็มอีค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้น
สำหรับเรื่องที่ 3 คือ การใส่วิตามินให้กับเอสเอ็มอี โดยยกระดับความเชี่ยวชาญแรงงาน และเทคโนโลยี ได้แก่ หนึ่ง การสร้างผู้ประกอบการใหม่ รัฐควรจัดหาแหล่งทุน การพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และการขาย การตลาดสำหรับแรงงานให้กับกลุ่มคนตกงาน และนักศึกษาที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา สองยกระดับแรงงาน และผู้ประกอบการเดิม สอนแรงงานในระบบ SME ให้เก่ง อย่างรวดเร็ว ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการ Turnaroundผู้ประกอบการรายเล็ก สามควรพัฒนาเอสเอ็มอีให้ก้าวสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชัน (Digital Transformation ) ได้ในต้นทุนที่ต่ำไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ และเทคโนโลยี
“สำหรับคำถามข้อ 3 ที่ สมาพันธ์ ฯ ได้ตอบท่านนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการที่ภาครัฐทำอยู่ มาตรการใดดีอยู่แล้ว และมาตรการใดที่น่าจะปรับให้ดีขึ้นได้ คณะกรรมการสมาพันธ์ฯ ที่เข้าร่วมประชุมก็ได้กล่าวชื่นชมคณะรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์โรคระบาดโควิด19 ที่สามารถจัดการโรคระบาดครั้งนี้ได้ดี รวดเร็ว และปลดล็อคในบางกิจการให้ประชาชนได้ทำมาค้าขายได้เร็วกว่าที่คิด และขอขอบคุณที่ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาได้หลากหลายและครอบคลุมเอสเอ็มอีหลายกลุ่มเพียงแต่มีอุปสรรคอยู่บ้างทำให้ บางเรื่องเกิดความล่าช้า บางเรื่องเข้าไม่ถึง บางเรื่องให้ไม่สุด” นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์ฯ กล่าวในตอนท้าย