ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เผยผลสำรวจพฤติกรรมการซื้อและการสูบบุหรี่ของคนไทย ในช่วงมาตรการล็อค ดาวน์ (Lock Down) และเคอร์ฟิว (Curfew) จากสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ก่อโรคโควิด-19 ระบาด แบบควิก โพลล์ เพื่อนำข้อมูลไปใช้พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพว่า จากสำรวจกลุ่มตัวอย่างทางออนไลน์ทั่วประเทศ ใน 2 ประเด็น ได้แก่ ผลกระทบต่อผู้สูบบุหรี่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และ ผลกระทบต่อการชื้อบุหรี่ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการประกาศล็อค ดาวน์ และเคอร์ฟิว นั้น พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.2 ที่สูบบุหรี่ทุกวัน มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่เหมือนเดิมก่อนที่โควิด-19 จะระบาด ถึงร้อยละ 55.3 แต่มีตัวเลขเชิงสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสระบาดนี้ ทำให้คนไทยสูบบุหรี่น้อยลงถึงร้อยละ 27.1 โดยให้เหตุผลว่ากลัวกระทบสุขภาพ ร้อยละ 38.4 ถัดมาคือต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ร้อยละ 37.2 และตั้งใจเลิกในช่วงวิกฤตนี้ ร้อยละ 24.4 ขณะที่มาตรการล็อค ดาวน์ และเคอร์ฟิว มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อบุหรี่ โดยคนไทยซื้อบุหรี่น้อยลง ร้อยละ 30
สอดคล้องกับข้อมูลจากร้านสะดวกซื้อพบว่า ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ระบาด ร่วมกับการออกมาตรการล็อค ดาวน์ และเคอร์ฟิว คนไทยซื้อบุหรี่จากร้านสะดวกซื้อในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยยอดจำหน่ายบุหรี่ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนมีมาตรการล็อค ดาวน์ และเคอร์ฟิว เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ที่มีมาตรการล็อค ดาวน์ และเคอร์ฟิว ยอดจำหน่ายลดลงร้อยละ 25 นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบด้วยว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาด มีคนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.1 โดยให้เหตุผลว่าสูบมากขึ้นเพราะเครียด ร้อยละ 18.3 และสูบเพราะไม่มีอะไรทำ ร้อยละ 14.8 ขณะที่มาตรการล็อค ดาวน์ และเคอร์ฟิว มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อบุหรี่ของคนไทย โดยซื้อบุหรี่ตุนมากขึ้น ร้อยละ 12.7 ซื้อครั้งละมากกว่า 1 ซอง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.7 และซื้อก่อนเวลาเคอร์ฟิว 22.00 น. 1-2 ชม. บ่อยครั้ง ร้อยละ 13.3 และบางครั้ง ร้อยละ 37.5 ซึ่งส่วนมากผู้สูบบุหรี่ซื้อบุหรี่จากร้านสะดวกซื้อ
“พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทยในช่วงภาวะวิกฤตโรคระบาด ที่สะท้อนผ่านตัวเลขทั้งในกลุ่มที่สูบลดลงและสูบเพิ่มขึ้นนี้ แม้ไม่ใช่พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ แต่ก็มีนัยยะสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มของการสูบลดลงเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจ และกลัวกระทบกับสุขภาพ แสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิต หากเกิดภาวะวิกฤตคนจะเลือกปากท้องและสุขภาพมากกว่า รวมถึงมาตรการด้านการสื่อสารข้อมูล สูบบุหรี่เสี่ยงป่วยโควิด-19 มากขึ้น จากภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสัมฤทธิ์ผล สามารถสร้างความเข้าใจและตระหนักให้กับประชาชนได้ จึงต้องรักษาความเข้มข้นในจุดนี้ไว้ ศจย.เองจะทำการสำรวจ วิจัย และสืบค้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาวะของคนไทย เผื่อนำมาถ่ายทอดสู่สังคม ส่วนในกลุ่มที่สูบมากขึ้น ตัวเลขถึงจะน้อยแต่ไม่ควรมองข้าม เมื่อได้ทราบสาเหตุแล้ว ศจย.จะนำข้อมูลที่ได้ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพเสนอต่อรัฐบาลต่อไป” ผอ.ศจย. กล่าว