นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) มีมติเห็นชอบให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลฯ โดยได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมแนวทางมาตรการที่จะดูแล 82 สหกรณ์เจ้าหนี้ที่ลงทุนในหลักทรัพย์ของบมจ.การบินไทยไว้ทุกรูปแบบ ซึ่งในเบื้องต้นเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ทาง การเงินของแต่ละสหกรณ์พบว่าค่อนข้างดีถึงดีมาก อีกทั้งมีสัดส่วนที่ลงทุน 42,229 ล้านบาท คิดเป็น 3.62% ของสินทรัพย์ที่สหกรณ์เหล่านั้นมี 1.17 ล้านล้านบาท และเมื่อมติ ค.ร.ม.ให้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจดังกล่าว จึงเป็นแนวทางและทิศทางที่สำคัญต่อการวางแผนการดำเนินงาน และเป็นสัญญาณที่ดีที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสหกรณ์ที่มาลงทุน ของสมาชิกสหกรณ์ทั้ง 82 แห่ง
สำหรับแนวทางของกระทรวงคมนาคม จะแก้ไขปัญหาของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลทันทีซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด โดยพิจารณาถึงประโยชน์ที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จะได้รับ หากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ยื่นขอเข้ากระบวนการฟื้นฟูก่อนเจ้าหนี้จะเป็นผู้ยื่นต่อศาล ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาลกระทรวงคมนาคมเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐให้ต่ำกว่าร้อยละ 50 เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด และผลจากข้อจำกัดของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการฟื้นฟูตามแผนฟื้นฟูให้สำเร็จ และผลจากข้อจำกัดของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสากิจ พ.ศ.2518 เพื่อให้สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหานี้
ทั้งนี้ การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายในครั้งนี้ จะส่งผลให้การบินไทย สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งการบินไทยยังสามารถประกอบธุรกิจปกติต่อไปได้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางของการบินไทยทั่วโลก หรือการขนส่งสินค้าไปรษณียภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการฟื้นฟูองค์กรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป